รอยเตอร์ - นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ปฏิเสธข้อกล่าวหาจากเคียฟที่ว่ามอสโกกำลังส่งทหารและอาวุธเข้าไปยังยูเครน พร้อมบอกหวังเห็นความก้าวหน้าในโต๊ะเจรจาความขัดแย้งในวันพุธ (21 ม.ค.) แม้ว่าทหารยูเครนและกองกำลังฝ่ายแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่เครมลินกลับมาปะทะกันอย่างดุเดือดอีกครั้ง
เมื่อวันอังคาร (20 ม.ค.) เคียฟกล่าวหากองกำลังประจำการของรัสเซียโจมตีทหารของพวกเขาทางภาคตะวันออกของประเทศ คำกล่าวอ้างที่ชี้ชัดที่สุดว่ากองทัพรัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 4,800 ศพนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา
ต่อมาในวันพุธ (21 ม.ค.) ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ของยูเครนบอกที่เวทีประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่ามีทหารรัสเซีย 9,000 นายอยู่ในยูเครนและเรียกร้องให้มอสโกถอนกำลังพลกลับออกไป
อย่างไรก็ตาม นายลาฟรอฟแถลงกับผู้สื่อข่าวก่อนหน้าเดินทางไปเข้าร่วมเจรจาสันติภาพในกรุงเบอร์ลิน กับรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน เยอรมนี และฝรั่งเศส ว่า “ผมพูดทุกครั้งว่า ถ้าคุณกล่าวอ้างด้วยความมั่นใจนัก ก็ให้นำเสนอข้อเท็จจริงมา แต่ก็ไม่มีใครสามารถนำเสนอข้อเท็จจริงได้ หรือไม่ก็อาจไม่ต้องการนำเสนอความจริง” เขากล่าว “ดังนั้นก่อนเรียกร้องให้เราหยุดทำอะไรบางอย่าง กรุณานำเสนอข้อพิสูจน์หน่อยเถอะว่า เราทำแบบนั้นจริง”
กระนั้นก็ตาม นายลาฟรอฟยอมรับว่าพวกกบฏนิยมรัสเซียทางภาคตะวันออกของยูเครน ครอบครองดินแดนมากกว่าที่เคยแจ้งกับพวกเขาภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงที่กรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน
เหตุสู้รบในยูเครน ทวีความหนักหน่วงขึ้นอย่างฉับพลันในเดือนนี้ กัดเซาะข้อตกลงหยุดยิงจนขาดรุ่งริ่ง ขณะที่เหล่าผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศส ปฏิเสธพบปะกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เพื่อหารือในประเด็นวิกฤตความไม่สงบจนกว่ามอสโกจะยึดมั่นข้อตกลงหยุดยิง
ลาฟรอฟบอกว่า รัสเซียได้รับคำประกันจากพวกแบ่งแยกดินแดนว่าพวกเขาจะล่าถอยจากแนวเส้นแบ่งที่เห็นพ้องกันเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน แต่เขาไม่ได้ระบุว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หลังจากเคียฟ กล่าวหาว่าพวกกบฏรุกคืบเข้ายึดดินแดนล่วงล้ำแนวเส้นแบ่งเข้ามามากกว่า 500 ตารางกิโลเมตร
นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในวันพุธ (21 ม.ค.) แสดงความหวังว่าโต๊ะเจรจา 4 ฝ่ายในเบอร์ลิน จะช่วยส่งเสริมข้อตกลงหยุดยิง แต่ก็เตือนว่าอย่าได้คาดหมายอะไรมาก ส่วนรัสเซียระบุว่าการเจรจาดังกล่าวควรกดดันเคียฟ ให้เปิดเจรจาโดยตรงกับพวกกบฏ และเปิดทางให้ดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครนมีอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้นผ่านการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ