เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ประกาศจะยุติวิกฤตการเงิน พร้อมทั้งให้คำมั่นจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนชาวอเมริกันทุกคน ในการแถลงนโยบายประจำปีต่อสภาคองเกรส (State of the Union) เมื่อค่ำวานนี้ (20 ม.ค.)
ในคำแถลงซึ่งร่างขึ้นเพื่อดึงดูดครอบครัวคนทำงาน ประธานาธิบดีโอบามาได้เน้นย้ำถึงยุทธศาสตร์สำหรับ “เศรษฐกิจชนชั้นกลาง” ของตน
เขากล่าวว่า “ตอนนี้ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่า จะเลือกใครขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศตลอด 15 ปีข้างหน้า”
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่แผนการของผู้นำสหรัฐฯ จะไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาที่พรรครีพับลิกันเป็นผู้ครองเสียงข้างมาก
ในคำแถลงซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ชี้ว่า จะมุ่งประเด็นสำคัญไปที่ค่านิยมมากกว่านโยบาย โอบามาประกาศว่า สหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนโฉมหน้า ภายหลังประสบสภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดนับแต่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)
ผู้นำแดนอินทรีแถลงว่า มีแผนกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการให้ความช่วยเหลือครอบครัวคนทำงาน ให้สามารถลาป่วย ลาคลอด ตลอดจนได้รับบริการดูแลบุตรในราคาย่อมเยา
นอกจากนี้ โอบามายังให้คำมั่นว่า รัฐสภาสหรัฐฯ ควรจะผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดให้สตรีได้รับค่าแรงที่เท่าเทียมกับชายที่ทำอาชีพเดียวกัน
คำแถลงของโอบามา ยังรวมถึงนโยบายการสร้างเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ และเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้รับการศึกษาในระดับวิทยาลัย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ในนโยบายหนึ่ง ซึ่งมีแนวโน้มจะฉุดให้ผู้นำสหรัฐฯ ต้องเกิดความขัดแย้งกับสภาคองเกรส ที่พรรครีพับลิกันกำลังครองเสียงข้างมาก ประธานาธิบดีโอบามาได้ให้คำมั่นที่จะอุดช่องโหว่ด้านภาษีสำหรับผู้ที่ต้องเสียภาษีมรดกเป็นจำนวนมหาศาล รวมทั้งการขึ้นภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์สำหรับผู้มีรายได้มหาศาลจาก 23.8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 28 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมรูปแบบใหม่กับบริษัทเงินทุน ที่มีสินทรัพย์มูลค่าราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
สมาชิกอาวุโสบางส่วนของพรรครีพับลิกันได้เมินเฉยต่อนโยบายเหล่านี้ โดยชี้ว่าเป็น “การทำสงครามชนชั้น”
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โอบามาได้ตัดสินใจใช้อำนาจบริหารของประธานาธิบดีออกคำสั่งปฏิรูปด้านต่างๆ โดยไม่แคร์เสียงคัดค้านจากฝ่ายรีพับลิกันที่กล่าวหาว่าเขากำลังใช้อำนาจเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายคนเข้าเมือง รวมไปถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคู่อริเก่าอย่างคิวบา
เมื่อวานนี้ (20) โอบามาได้กล่าวเรียกร้องอีกครั้งหนึ่งว่า สหรัฐฯ ควรยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อคิวบาที่ใช้มานานกว่าครึ่งศตวรรษ
“การปรับเปลี่ยนนโยบายต่อคิวบาถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ยุติความหวาดระแวงในซีกโลกของเรา” โอบามากล่าว
ผลสำรวจล่าสุดพบว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เห็นด้วยที่วอชิงตันยื่นไมตรีต่อคิวบา และโอบามา ยังได้ถือโอกาสนี้ตอกย้ำกระแสสนับสนุน โดยการเชิญ อลัน กรอสส์ อดีตนักโทษอเมริกันที่เคยถูกคุมขังในคิวบามาร่วมฟังการแถลงนโยบายประจำปีที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วย
ในส่วนของอิหร่าน โอบามาเตือนว่าหากมีการประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมในเวลานี้ อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการเจรจานิวเคลียร์ที่มีความซับซ้อนและยังอยู่ในขั้นเปราะบาง
“หากสภาคองเกรสออกคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมในเวลาเช่นนี้ วิธีเจรจาทางการทูตทั้งหมดจะล้มเหลวอย่างแน่นอน... และนี่คือเหตุผลที่ผมจะคัดค้านการออกกฎหมายคว่ำบาตรทุกฉบับซึ่งอาจจะขัดขวางกระบวนการนี้”
ผู้นำสหรัฐฯ ยังถือโอกาสเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติการใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในตะวันออกกลาง
“ในส่วนของอิรักและซีเรีย ความเป็นผู้นำของอเมริกาและศักยภาพทางทหารของเรามีส่วนช่วยยับยั้งการรุกคืบของไอเอส... ความพยายามนี้อาจต้องใช้เวลา ต้องการความมุ่งมั่น แต่ท้ายที่สุดเราจะประสบความสำเร็จ”
โอบามา ยังเตือนด้วยว่า “ลัทธิต่อต้านชาวเซมิติก (anti-semitism) ที่น่าประณามกำลังปรากฏขึ้นอีกครั้งในหลายภูมิภาคของโลก” โดยมีนัยยะถึงเหตุการณ์โจมตีนิตยสาร ชาร์ลี เอ็บโด และซุปเปอร์มาร์เก็ตยิวในกรุงปารีสเมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน
“เราพร้อมที่จะยืนหยัดเคียงข้างผู้คนทั่วโลกที่ถูกหมายหัวโดยพวกก่อการร้าย ตั้งแต่โรงเรียนในปากีสถาน เรื่อยมาจนถึงท้องถนนในปารีส”
ในด้านการค้า โอบามา ร้องขอให้สภาคองเกรสมอบอำนาจแก่เขาอย่างเต็มที่ในการเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก (TTIP) รวมไปถึงข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TTP)
/center>