xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ “อินเทอร์เน็ต” เป็นตัวการจุดชนวน “ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด” ชาร์ลี เอ็บโด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชอริฟ คูอาชี (ซ้ายบน) และซาอิด คูอาชี (ซ้ายล่าง) สองพี่น้องที่ก่อเหตุสังหารหมู่ที่สำนักงานนิตยสารรายสัปดาห์แนวเสียดสีประชดประชันในกรุงปารีส
เอเจนซีส์ – หลังเหตุนองเลือดในกองบรรณาธิการ ชาร์ลี เอ็บโด เมื่อวันที่ 7 มกราคม เผยแพร่ออกมาไม่กี่ชั่วโมง อินเตอร์เน็ตก็ว่อนไปด้วยทฤษฎีสมรู้ร่ว@1คิดมากมาย เป็นต้นว่าการสังหารหมู่ดังกล่าวเป็นปฏิบัติการของหน่วยซีเคร็ต เซอร์วิส หรือกลุ่มต่อต้านมุสลิม ไม่ใช่มือปืนอิสลามิสต์อย่างที่ทางการฝรั่งเศสประกาศ

เหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ที่มีการร่ำลือไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด สำหรับครั้งนี้เรื่องที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ กระจกมองหลังของรถที่สองพี่น้องคูอาชีใช้ โดยภาพที่ถ่ายใกล้สำนักงาน ชาร์ลี เอ็บโด เป็นสีขาว แต่ในภาพที่ถ่ายหลังจากรถยนต์คันเดียวกันถูกจอดทิ้งภายหลังก่อเหตุกลับเป็นสีดำ

เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า เนื่องจากกระจกทำจากโครเมียมที่สามารถเปลี่ยนสีตามแสงที่ตกกระทบ

บ้างบอกว่า มีรายละเอียดมากมายที่เข้าทางทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด อาทิ บัตรประจำตัวที่หนึ่งในสองพี่น้องคูอาชีทำตกไว้ และการที่ผู้รับโทรศัพท์ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่มือปืนอีกคนคือ อาเมดี กูลิบาลี สังหารตัวประกัน 4 คน วางหูไม่สนิท

แม้แต่เส้นทางการเดินขบวนสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในปารีสเมื่อวันที่ 11 ที่ผ่านมา ก็มีคนเอาไปโยงกับแนวพรมแดนของอิสราเอล

เอ็มมานูเอล เตเอ็บ ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลีอองของฝรั่งเศส และผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด แสดงความเห็นว่า เรื่องนี้มีสาเหตุมาจากการที่คนมากมายคิดว่า การตีความเหตุการณ์ต่างๆ ของตำรวจ นักการเมือง และนักวิเคราะห์ ตื้นเขินเกินไป

ผู้สังเกตการณ์หลายคนบอกว่า หนุ่มสาวที่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่ มีแนวโน้มสูงที่จะเชื่อทุกสิ่งที่อ่านเจอในออนไลน์

บางคนบอกว่า ผู้ใหญ่สมัยนี้มีอิทธิพลน้อยมากต่อสิ่งที่เด็กเลือกที่จะเชื่อ

ครูคนหนึ่งแจกแจงว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เด็ก 90% เรียนรู้จากพ่อแม่หรือโรงเรียน แต่ปัจจุบันกลับเป็นตรงกันข้าม

สำหรับกิโญม บรอสซาร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง hoaxbuster.com เว็บไซต์ที่ผู้ใช้สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล มองว่า ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงตัวตนผ่านอินเทอร์เน็ตของหนุ่มสาว ความแพร่หลายอย่างมากของเครือข่ายสังคมทำให้สิ่งที่เคยถกเถียงกันในชั้นเรียนย้ายวิกไปถกกันในทวิตเตอร์, สแนปแชต หรืออินสตาแกรม แทน

โอลิวิเญร์ เอิร์ซชิด ผู้บรรยายวิชาสารสนเทศศาสตร์ในเมืองนองต์ทางตะวันตกของฝรั่งเศส ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า สื่อกระแสหลัก เช่น หนังสือพิมพ์ เลอ มงด์ ตอบโต้ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดต่างๆ มากมายอย่างรวดเร็วบนเครือข่ายสังคม ซึ่งบ่งชี้ว่าความไวอาจเป็นเป็นปัจจัยสำคัญในการนำเสนอหลักฐานมาหักล้างกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น