xs
xsm
sm
md
lg

‘อินเดีย’ล้มเหลวไม่สามารถหาประโยชน์ให้เต็มที่จากราคาน้ำมันตกฮวบ

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

India fails to exploit slump in oil price
By M K Bhadrakumar
09/01/2014

ในฐานะที่อินเดียเป็นประเทศขาดแคลนพลังงาน โดยยอดรายจ่ายนำเข้าน้ำมันในปีงบประมาณที่แล้วอยู่ในระดับ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การที่ราคาน้ำมันลดลงมาอย่างฮวบฮาบในเวลานี้ จึงเป็นเรื่องที่ควรแก่การเฉลิมฉลอง อย่างไรก็ตาม วิธีเฉลิมฉลองนั้นมีอยู่ 2 วิธี อย่างแรกเลยอาจจะรีบเปิดขวดแชมเปญและชื่มชมกับสิ่งดีๆ ทั้งหลายในชีวิต ส่วนวิธีที่สอง ซึ่งเป็นวิธีที่จีนปฏิบัติอยู่นั้น คือการเข้าฉวยคว้านาทีทองในตอนนี้มาวางแผนการสำหรับอนาคต

ในฐานะที่อินเดียเป็นประเทศขาดแคลนพลังงาน โดยยอดรายจ่ายนำเข้าน้ำมันในปีงบประมาณที่แล้วอยู่ในระดับ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การที่ราคาน้ำมันลดลงมาอย่างฮวบฮาบในเวลานี้ จึงเป็นเรื่องที่ควรแก่การเฉลิมฉลอง อย่างไรก็ตาม วิธีเฉลิมฉลองนั้นมีอยู่ 2 วิธี อย่างแรกเลยอาจจะรีบเปิดขวดแชมเปญและชื่มชมกับสิ่งดีๆ ทั้งหลายในชีวิต ส่วนวิธีที่สอง ซึ่งเป็นวิธีที่จีนปฏิบัติอยู่นั้น คือการเข้าฉวยคว้านาทีทองในตอนนี้มาวางแผนการสำหรับอนาคต

รัฐบาลอินเดียนั้นกำลังจิบแชมเปญอย่างรื่นรมย์ ยอดขาดดุลงบประมาณทำท่าว่าจะสามารถลดลงมาอย่างสำคัญทีเดียว และนั่นย่อมเป็นข่าวดีสำหรับงบประมาณแผ่นดินของปีต่อไป ตามรายงานของมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) ที่นำออกเผยแพร่ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ได้คำนวณเอาไว้ว่าหากราคาน้ำมันตกลงเพียงแค่ 10% ก็จะสามารถทำให้ยอดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของแดนภารตะ ลดลงมาเท่ากับ 0.6% ของจีดีพีของประเทศ นี่ไม่ใช่เรื่องจิ๊บๆ เลย (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.business-standard.com/article/economy-policy/good-news-for-india-as-oil-slips-below-93-a-bbl-114100300048_1.html)

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกำลังใช้ประโยชน์อย่างไรจากลาภลอยที่ได้มาอย่างไม่ได้คาดหมายเช่นนี้ ? พูดกันอย่างง่ายๆ ผลประโยชน์นี้ไม่ได้ถูกส่งผ่านต่อไปจนถึงผู้บริโภคหรอก ขณะที่ในสหรัฐฯ ราคาเฉลี่ยของน้ำมันเบนซินกำลังอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบระยะเวลา 4 ปี ทว่าสำหรับผู้บริโภคชาวอินเดียแล้ว พวกเขาไม่ได้รับโชคเช่นนี้ด้วย แล้วที่เลวร้ายกว่านั้นอีกก็คือ เนื่องจากวิธีกำหนดราคาของรัฐบาลนั้นช่างคลุมเครือไร้ความโปร่งใส จึงทำให้เกิดความสงสัยข้องใจกันว่า พวกบริษัทน้ำมันเอกชนหรือเปล่า ที่กำลังสามารถทำผลกำไรได้อย่างมากมายมหาศาล

ขณะเดียวกัน ยังมีคำถามใหญ่โตยิ่งกว่านั้นเสียอีก โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านพลังงาน ทั้งนี้มีรายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศจีนอยู่ 2 ชิ้นที่ทำให้เกิดความสนใจในแง่มุมนี้ขึ้นมา ข่าวชิ้นหนึ่งเป็นรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งออกมาในวันที่ 7 ม.ค. (ดูรายละเอียดได้ที่ http://in.reuters.com/article/2015/01/07/china-oil-reserves-idINKBN0KG0WC20150107) ระบุว่า จีนได้รีบฉวยคว้าโอกาสที่เปิดให้ในเวลานี้ ด้วยการกระโจน “เข้าทำการกว้านซื้ออย่างขนานใหญ่” ทำให้ยอดนำเข้าน้ำมันพุ่งสูงลิ่วทำสถิติใหม่ ทั้งนี้จีนดูเหมือนได้เพิ่มปริมาณน้ำมันที่เก็บเอาไว้เพื่อการสำรองทางยุทธศาสตร์ขึ้นมาอีกเท่าตัวในปี 2014 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า กล่าวโดยรวมแล้ว จีนดูเหมือนตัดสินใจเร่งรัดแผนการในการเติมเต็มคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของตน ประมาณการกันว่าน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของจีนในปัจจุบัน อยู่ในระดับสูงกว่าปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ 30 วันแล้ว ทว่าแดนมังกรวางแผนเอาไว้ว่าจะเพิ่มให้อยู่ในระดับเท่ากับปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ 90 วัน ความเคลื่อนไหวเร่งรัดแผนการให้เร็วยิ่งขึ้นของจีนเช่นนี้ ดูจะมีเหตุผลเนื่องจากจีนมุ่งคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นจากน้ำมันดิบที่ราคาถูกลงมากนั่นเอง

รายงานข่าวชิ้นที่ 2 เป็นของสำนักข่าวเอพีเมื่อช่วงต้นสัปดาห์เดียวกัน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.miamiherald.com/news/nation-world/world/americas/venezuela/article5578341.html) ข่าวนี้ระบุว่าจีนได้ตกลงให้เงินช่วยชีวิตเป็นมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์แก่เศรษฐกิจของเวเนซุเอลา ซึ่งกำลังเดี้ยงหนัก (เพราะได้รับความกระทบกระเทือนด้วยการที่รายได้จากส่งออกน้ำมันตกต่ำลงไปมาก) ส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้กำหนดว่าบริษัทรัฐวิสาหกิจน้ำมันของจีน จะได้ขยายกิจกรรมของตนในพื้นที่แถบโอริโนโค (Orinoco) ซึ่งร่ำรวยน้ำมันของเวเนซุเอลา คราวนี้ถ้าลองเปลี่ยนจากเวเนซุเอลาเป็นรัสเซีย ก็จะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ทัศนคติเอาแต่รักสุขสนุกสบายของอินเดีย คือทัศนคติที่สร้างความปราชัยให้แก่ตนเองโดยแท้

นอกเหนือจากช่วงระยะเวลาสั้นๆ ตอนที่ มานี ชันคาร์ อัยยาร์ (Mani Shankar Aiyar) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีน้ำมันปิโตรเลียม ในช่วงต้นๆ ของทศวรรษที่แล้ว อินเดียก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรจริงจังในเรื่องการพัฒนายุทธศาสตร์ระยะยาวด้านความมั่นคงทางพลังงาน พวกเจ้านายทางการเมืองของเราดูเหมือนเพลิดเพลินกับลู่ทางโอกาสในการซื้อขายในตลาดส่งมอบทันทีเฉพาะหน้า (spot market) แทนที่จะขบคิดดำเนินการเป็นระยะยาวในเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ

แต่ก็นั่นแหละ เหมือนๆ กับเป็นการเย้ยหยันเสียดสีกันให้แสบๆ คันๆ เพราะ จิม โอนีลล์ (Jim O’Neill) ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากการคิดประดิษฐ์คำย่อของกลุ่ม BRICS ขึ้นมานั้น เพิ่งชี้เมื่อเร็วๆ นี้เองว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียกำลังเริ่มเร่งตัวแล้ว และ “จากการเลือกตั้งที่ทำให้ นเรนทรา โมดี ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดจนการที่ราคาน้ำมันตกฮวบ อินเดียจึงยังคงมีโอกาสอยู่เหมือนกันแม้จะไม่มากนัก ที่จะทำได้ตามเป้าหมายที่ผมคาดหมายไว้สำหรับช่วงระยะเวลา 1 ทศวรรษนี้เต็มๆ โดยที่อินเดียกระทั่งอาจจะเติบโตเร็วกว่าจีนด้วยซ้ำ ในช่วงครึ่งหลัง (ของทศวรรษนี้)”

ตามความเห็นของโอนีลล์ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.bloombergview.com/articles/2015-01-07/three-good-reasons-to-be-bullish-on-china-in-2015) นอกเหนือจากจีนแล้ว อินเดียเป็นอีกประเทศเดียวในกลุ่ม BRICS ซึ่งน่าที่จะมีอัตราเติบโต 7.5% โดยเฉลี่ย ในระยะเวลา 1 ทศวรรษเต็มๆ ระหว่างปี 2011-2020

ข้อเขียนชิ้นนี้แรกเริ่มปรากฏอยู่ในบล็อก Indian Punchline เว็บเพจ http://blogs.rediff.com/mkbhadrakumar/2015/01/08/india-fails-to-exploit-oil-price-splump/
b>

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
กำลังโหลดความคิดเห็น