xs
xsm
sm
md
lg

‘ชาร์ลี เอ็บโด’ คือ ‘ความบกพร่องล้มเหลวทางด้านข่าวกรอง’ จริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: กุนเทอร์ บาคมานน์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Charlie Hebdo: A failure of policy
By Gunter Bachmann
12/01/2015

ในกรณีที่ประสบความสำเร็จ เป็นหน้าที่ของพวกหน่วยงานข่าวกรองที่จะต้องล่องหนไม่ให้ใครมองเห็นได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ล้มเหลว หน้าที่ของหน่วยข่าวกรองคือการตกเป็นเป้าหมายของการประณามตำหนิ สภาพอย่างหลังนี้ แน่นอนทีเดียวเป็นสิ่งซึ่งหน่วยข่าวกรองฝรั่งเศสและหน่วยข่าวกรองอื่นๆ เผชิญอยู่ ภายหลังการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในกรุงปารีสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระนั้นก็ตามที มันไม่ใช่การปฏิบัติการอย่างซุกซ่อนอำพรางในเงามืดของโลกข่าวกรองหรอก แต่เป็นนโยบายสาธารณะอันกำหนดจัดวางขึ้นมาอย่างเปิดเผยต่างหาก ที่จะต้องเป็นผู้ค้นพบหนทางในการแก้ไขคลี่คลายภัยคุกคามของผู้ก่อการร้าย

ในกรณีที่ประสบความสำเร็จ เป็นหน้าที่ของพวกหน่วยงานข่าวกรองที่จะต้องล่องหนไม่ให้ใครมองเห็นได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ล้มเหลว หน้าที่ของหน่วยข่าวกรองคือการตกเป็นเป้าหมายของการประณามตำหนิ แน่นอนทีเดียวว่า สภาพอย่างหลังนี้เป็นสิ่งซึ่งกำลังปรากฏขึ้นมา เมื่อเกิดกรณีผู้ก่อการร้ายเข้าโจมตีสำนักงานของ “ชาร์ลี เอ็บโด” นิตยสารแนวเสียดสีของฝรั่งเศส ตลอดจนต่อเนื่องไปก่อเหตุอีกหลายจุดในกรุงปารีสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงของฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหน่วยงานที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กำลังตกเป็นเป้าหมายถูกวิพากษ์วิจารณ์ติเตียนโดยตรง นอกจากนั้นการประณามตำหนิยังพลอยลามปามไปถึงหน่วยข่าวกรองอื่นๆ ในยุโรปอีกด้วย

สถานีวิทยุโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ เป็นตัวอย่างของสื่อมวลชนที่แสดงท่าทีในลักษณะดังกล่าวนี้ โดยในรายงานของบีบีซีที่นำออกเผยแพร่ในวันที่ 10 มกราคม ได้เขียนเอาไว้ว่า “การก่อเหตุโจมตีของผู้ก่อการร้ายในโลกยุคใหม่แทบจะทุกๆ ครั้งทีเดียว จะต้องติดตามมาด้วยข้อกล่าวหาที่ระบุว่าเกิดความบกพร่องล้มเหลวทางด้านข่าวกรอง สำหรับกรณีการโจมตีอย่างต่อเนื่องกันหลายหนซึ่งเกิดขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น ข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้ถือว่ามีหลักฐานอันหนักแน่นทีเดียวรองรับอยู่ กล่าวคือ ผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ไม่เพียงเป็นที่รู้จักของพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบชาวฝรั่งเศสเท่านั้น หากแต่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของชาติยุโรปอื่นๆ และของอเมริกันก็ได้คอยเฝ้าติดตามพฤติการณ์ของบุคคลเหล่านี้ โดยที่ผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งได้เคยเดินทางไปเยเมนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนอีกรายหนึ่งเคยถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงจากความพยายามที่จะเดินทางเข้าไปยังอิรัก นอกจากนั้นแล้ว พวกเขาก็มีการติดต่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายนักรบญิฮัดของยุโรปซึ่งเป็นที่รู้จักกันมานมนาน” ไม่เพียงเฉพาะบีบีซี สื่อมวลชนด้านข่าวรายสำคัญๆ ต่างพากันเสนอรายงานข่าวเนื้อหาทำนองเดียวกันนี้

กระทั่ง สเปงเกลอร์ (Spengler) คอลัมนิสต์ของเอเชียไทมส์ ยังตั้งข้อสังเกตเอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (Spengler , Don't mourn – neutralize, Asia Times Online, 9 Jan.2015 เว็บเพจ http://www.atimes.com/atimes/World/WOR-01-090115.html หรือดูที่เก็บความเป็นภาษาไทย ได้ที่เว็บเพจ http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000005735) ว่า “ในประดาเขต พื้นที่ “ห้ามเข้า” (“no-go” zones) ของฝรั่งเศส (ดูรายละเอียดได้จากเว็บเพจ http://www.gatestoneinstitute.org/3305/france-no-go-zones ) เวลานี้ ต่างก็ตกอยู่ใต้การปกครองในทางเป็นจริงของแก๊งคนร้ายชาวมุสลิมไปแล้ว ยิ่งกว่านั้น ผู้ก่อการร้ายยังสามารถที่จะขู่กรรโชกประชากรมุสลิมได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร ฝรั่งเศสนั้นได้สูญเสียความสามารถในการเข้าตรวจตราดูแลความสงบเรียบร้อยในหลายๆ ส่วนของดินแดนของตนเองไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนี่หมายความว่าฝรั่งเศสไม่สามารถที่จะดำเนินการปฏิบัติการตอบโต้อย่างทรงประสิทธิภาพนั่นเอง”

นี่เป็นความเข้าใจผิดโดยแท้ เพราะในวิธีปฏิบัติของหน่วยข่าวกรองทั้งหลายในแทบจะตลอดช่วงประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่ผ่านมา ย่อมต้องอาศัยความอ่อนเปราะบอบบางของเหล่าอาชญากร มาใช้เป็นช่องทางในการเฝ้าติดตามภัยคุกคามต่างๆ ที่มีต่อรัฐ หน่วยข่าวกรองนั้นต้องพึ่งพาผู้แจ้งข่าวจึงจะได้ข้อมูลข่าวสารมา โดยที่การส่งสายลับอำพรางตัวแทรกซึมเข้าไปในองค์กรก่อการร้ายต่างๆ อย่างประสบความสำเร็จนั้น เป็นท้องเรื่องที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ มากกว่าจะเป็นชีวิตจริงๆ ของหน่วยข่าวกรองทั้งหลาย

หน่วยงานความมั่นคงทั้งหลายต่างต้องยอมอดทนอดกลั้นต่อการประกอบอาชญากรรมในระดับใดระดับหนึ่งกันทั้งสิ้น เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยคุกคามอันมีความสาหัสร้ายแรงยิ่งกว่า อันที่จริงแล้ว นี่ไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะในกรณีเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐเท่านั้นด้วยซ้ำ ขอให้ลองพิจารณาถึงตัวอย่างดังเช่น ความสัมพันธ์ระหว่าง สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) กับ วิตนีย์ บัลเกอร์ (Whitney Bulger) หัวหน้าแก๊งอาชญากรเมืองบอสตัน ที่ได้ดำเนินมาเป็นเวลานานปี (ดูรายละเอียดได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Whitey_Bulger)

เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเปิดเผยถึงข้อมูลข่าวสารอันอ่อนไหวใดๆ เกี่ยวแหล่งข่าวตลอดจนวิธีการต่างๆ ในการหาข่าวสารจากแก๊งอาชญากรรม เราอาจจะทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มากขึ้น ด้วยการอ้างอิงถึงนวนิยายเรื่อง “A Most Wanted Man” ของ จอห์น เลอคาร์ (John Le Carre) ซึ่งเวอร์ชั่นที่สร้างเป็นภาพยนตร์ได้นำออกมาฉายกันในปี 2014 ที่ผ่านมา

ท้องเรื่องในนวนิยายของ เลอ คาร์ เรื่องนี้ พูดถึงพวกเจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายชาวเยอรมัน ซึ่งมุ่งใช้ผู้ลี้ภัยชาวเชชเนียวัยเยาว์ผู้หนึ่งที่มีประวัติความสัมพันธ์อันกำกวมคลุมเครือกับการก่อการร้าย เพื่อหลอกล่อเหยื่อตัวใหญ่ยิ่งกว่าให้ติดกับ ปรากฏว่าเกิดการถกเถียงโต้แย้งกันขึ้นมาระหว่างหน่วยข่าวกรองของฝ่ายยุโรป กับทางซีไอเอ (ซึ่งถูก เลอ คาร์ ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นคนต่อต้านอเมริกัน เสนอภาพตัวละครที่มีลักษณะอย่างกับหนังการ์ตูน) โดยประเด็นแกนกลางของการโต้แย้งกันนี้ก็คือ ควรที่จะหลอกล่อชาวมุสลิมผู้หนึ่งซึ่งเป็นบุคคลสำคัญมากในทางศาสนาและมีความสัมพันธ์กับพวกองค์กรก่อการร้าย ให้ติดกับจากนั้นแล้วก็ปรับเปลี่ยนเขาให้หันกลับมารับใช้รัฐ หรือว่าควรที่จะกำจัดเขาทิ้งไปเลยในทันที

คงจะต้องบอกว่า ความสมดุลอันละเอียดอ่อนระหว่างผู้ควบคุมกับผู้ให้ข่าวทั้งหลาย ได้กลายเป็นปัจจัยที่ประคับประคองให้ยุโรปค่อนข้างมีความปลอดภัยในตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บุคคลเฉกเช่นพี่น้องคูอาชิ (Kouachi brothers โดยที่ เชรีฟ Cherif ผู้เป็นน้องชายมีอายุ 32 ปี ส่วน ซาอิด Said ผู้พี่ชายอยู่ในวัย 34 ปี –ผู้แปล) คนร้ายที่ก่อเหตุสังหารหมู่ในสำนักงานของนิตยสารชาร์ลี เอ็บโด คือตัวอย่างแบบฉบับของความสมดุลอันละเอียดอ่อนดังกล่าวนี้ พี่น้องคู่นี้เริ่มต้นด้วยการเป็นอาชญากรก่อเหตุเล็กๆ น้อยๆ กระทั่งสำเร็จการศึกษาด้วยการผ่านการฝึกอบรมเป็นนักรบญิฮัดในเยเมน เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบชาวฝรั่งเศสทราบอยู่แล้วเป็นอย่างดี

ตัวผู้เขียนเองนั้นไม่ทราบรายละเอียดเฉพาะเจาะจงในกรณีของพี่น้องคูอาชิหรอก แต่มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ทั้ง ซาอิด คูอาชิ และ เชริฟ คูอาชิ ต่างตกเป็นเป้าหมายเฝ้าติดตามอย่างเป็นประจำของพวกผู้ให้ข่าวแก่รัฐบาลฝรั่งเศส หน่วยงานความมั่นคงในฝรั่งเศสนั้นไม่ได้มีอำนาจที่จะเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยตั้งแต่ก่อนที่จะมีการก่อเหตุร้าย ไม่เหมือนกับหน่วยงานความมั่นคงในประเทศอาหรับส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ทางฝ่ายฝรั่งเศสไม่สามารถนำเอาบุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะดำเนินกิจกรรมก่อการร้ายขึ้นมาในอนาคต มาคุมขังกักกันเอาไว้อย่างไม่มีกำหนด เป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมก่อนที่กิจกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นมา

ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ หน่วยงานความมั่นคงฝรั่งเศสจึงต้องอาศัยเครือข่ายผู้ให้ข่าว ซึ่งสมาชิกจำนวนมากทีเดียวเป็นพวกที่ดึงเอามาจากแวดวงอาชญากร การสร้างเครือข่ายเช่นนี้ขึ้นมาทำให้หน่วยข่าวกรองฝรั่งเศสสามารถทราบข่าวและลงมือปราบปรามตั้งแต่ก่อนที่พวกผู้ก่อการร้ายจะก่อเหตุโจมตีได้หลายครั้งทีเดียวในอดีตที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากการที่ซีเรียและหลายๆ ส่วนของอิรักตกอยู่ในสภาพแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ในระยะ 2 ปีมานี้ ทำให้กลายเป็นภาระหนักอึ้งเกินกำลังของเครื่องมือวิธีการต่างๆ ซึ่งหน่วยข่าวกรองได้เคยใช้รับมืออย่างได้ผล กับภัยคุกคามดังกล่าวนี้

หนังสือพิมพ์ เลอ มองด์ (Le Monde) ของฝรั่งเศสรายงานเตือนเอาไว้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2013 ว่า นักรบญิฮัดจำนวนมากกำลังเดินทางกลับมาจากสงครามต่างๆ ในต่างแดน และพวกเขาอาจจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อฝรั่งเศสในอนาคตข้างหน้า เรื่องนี้ก็มีการชี้เอาไว้เช่นกันโดยพวกนักวิเคราะห์ข่าวกรองภาษาอังกฤษ เป็นต้นว่า บล็อก “XX Committee” (ดูที่ http://20committee.com/)

ดังที่ จอห์น ชไนด์เลอร์ (John Schindler) เขียนเอาไว้เมื่อวันที่ 10 มกราคาในบล็อกดังกล่าวข้างต้น ความยุ่งยากอยู่ตรงที่ว่า “นับตั้งแต่เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2011 เป็นต้นมา พวกหน่วยข่าวกรองตะวันตกได้พัฒนาขีดความสามารถในเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยความร่วมมือประสานงานจากทุกๆ ภาคส่วนอย่างน่าประทับใจ โดยที่หน่วยงานของฝรั่งเศสจัดอยู่ในกลุ่มซึ่งทำงานได้อย่างดีเยี่ยมที่สุดไม่ว่าจะเทียบกับของชาติใดก็ตาม ถ้าหากจะมี “ความผิดพลาดบกพร่องในทางข่าวกรอง” ขึ้นในกรณีการก่อเหตุโจมตีที่ปารีส มันก็น่าจะเป็นเพียงความผิดพลาดบกพร่องขนาดเล็กๆ เท่านั้น ถึงแม้เราย่อมแน่ใจได้เลยว่าพวกนักการเมืองปารีสผู้รู้สึกอับอายขายหน้า จะต้องพยายามรื้อค้นแสวงหาความบกพร่องเช่นนี้ให้เจอให้จงได้ ปัญหาที่แท้จริงจึงอยู่ตรงที่ว่า พวกนักการเมืองฝรั่งเศส (ที่จริงควรจะต้องพูดว่าพวกนักการเมืองในประเทศตะวันตกทั้งหมดนั่นแหละ) ต่างไม่มีไอเดียเอาเสียเลยว่าจะทำอย่างไรดีกับพวกซึ่งปรารถนาจะกลายเป็นนักฆ่าญิฮัด ที่กำลังแตกหน่อเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในท่ามกลางประชากรของพวกเขาเอง”

สำหรับพวกที่มุ่งมาดต้องการเป็นนักรบญิฮัดแล้ว การแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ของดินแดนเลแวนต์ (Levant คำเรียกอาณาบริเวณทางภูมิศาสตร์ในสมัยก่อน ซึ่งครอบคลุมดินแดนที่เป็นประเทศ จอร์แดน เลบานอน อิสราเอล ดินแดนปาเลสไตน์ อิรัก และซีเรีย ในปัจจุบัน -ผู้แปล) โดยที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้วเป็นจำนวนแสนๆ คน และมีผู้พลัดถิ่นที่อยู่เป็นล้านๆ คน ยิ่งขยายความรู้สึกอับจนหมดทางเลือกอื่นที่จะให้เลือกเดินได้ และเมื่อผู้มุ่งมาดปรารถนาเหล่านี้ยิ่งมีจำนวนเพิ่มทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว หน่วยข่าวกรองทั้งหลายก็หมดความสามารถที่จะครองฐานะความเหนือกว่า ไม่อาจประคับประคองสมดุลอันละเอียดอ่อนดังที่กล่าวถึงข้างต้นเอาไว้ได้อีกต่อไป

เวลานี้มีนักรบญิฮัดจำนวนมากในยุโรป (อาจจะมีจำนวนนับพันนับหมื่นทีเดียว) ซึ่งเตรียมพร้อมลงมือกระทำสิ่งซึ่งพวกเขามองว่าเป็นพฤติการณ์ของผู้กล้าเสียสละพลีชีพ ในท่ามกลางสถานการณ์ที่พวกเขามองเห็นไปว่าเป็นยุคแห่งสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างความดีกับความชั่ว ขณะที่อาวุธร้ายแรงก็ซื้อหาได้อย่างค่อนข้างสะดวกง่ายดาย โดยตามรายงานของบลูมเบิร์กนิวส์ (Bloomberg News) เมื่อวันที่ 7 มกราคม ปืนไรเฟิลจู่โจม “อาก้า” ซึ่งผลิตจากโรงงานแถบยุโรปตะวันออก ราคาตามท้องถนนจะอยู่ที่ประมาณกระบอกละ 1,000 ยูโร (ราว 38,500 บาท) ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างถูกต้องตามความเป็นจริงทีเดียว

ดังนั้น มันไม่ใช่การปฏิบัติการอย่างซุกซ่อนอำพรางในเงามืดของโลกข่าวกรองหรอก แต่เป็นนโยบายสาธารณะอันกำหนดจัดวางขึ้นมาอย่างเปิดเผยต่างหาก ที่จะต้องเป็นผู้ค้นพบหนทางในการแก้ไขคลี่คลายภัยคุกคามของผู้ก่อการร้ายนี้

กุนเทอร์ บาคมานน์ เป็นนามแฝงของเจ้าหน้าที่ยุโรปผู้หนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับการต่อต้านการก่อการร้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น