เอเอฟพี/รอยเตอร์ - น้ำมันเมื่อวันพุธ (14 ม.ค.) ฟื้นตัวกว่า 2 ดอลลาร์ จากแรงช้อนซื้อตามหลังราคาดิ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายปีหนึ่งวันก่อนหน้านี้ ส่วนวอลล์สตรีทร่วงหนัก หลังเวิลด์แบงก์ลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจโลกของปีนี้และปีหน้า ปัจจัยดังกล่าวส่งทองคำยังเดินหน้าปิดบวก ท่ามกลางการเข้าถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำของนักลงทุน
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด ของตลาดนิวยอร์ก งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 2.59 ดอลลาร์ ปิดที่ 48.48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน เพิ่มขึ้น 2.10 ดอลลาร์ ปิดที่ 48.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในวันพุธ (14 ม.ค.) มีขึ้นหลังจากตลาดน้ำมันสหรัฐฯ ปิดใกล้ๆ ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีเมื่อวันอังคาร (13 ม.ค.) โดยนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการช้อนซื้อระยะสั้นช่วงใกล้วันหมดอายุสัญญา
น้ำมันวานนี้ (14 ม.ค.) ปรับขึ้นแม้ว่ารายงานคลังเชื้อเพลิงสำรองของรัฐบาลสหรัฐฯ พบว่าสต๊อกน้ำมันดิบของประเทศในสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มขึ้นถึง 5.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 387.90 ล้านบาร์เรล สูงกว่าปีก่อนถึง 10.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสต๊อกน้ำมันเบนซินและน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงดีเซลและน้ำมันทำความร้อน ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอในชาติผู้บริโภครายใหญ่แห่งนี้
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวันพุธ (14 ม.ค.) ปิดลบแรง ท่ามกลางความโกลาหลของตลาดทุนทั่วโลก ตามหลังเวิลด์แบงก์ลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจโลกและยอดค้าปลีกอันน่าผิดหวังของอเมริกา
ดาวโจนส์ ลดลง 186.59 จุด (1.06 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 17,427.09 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 11.76 จุด (0.58 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,011.27 จุด แนสแดค ลดลง 22.18 จุด (0.48 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,639.32 จุด
แรงขับเคลื่อนหลักที่ผลักให้นักลงทุนกระหน่ำเทขายหุ้นวานนี้ (14 ม.ค.) ได้แก่ การที่ธนาคารโลกลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจโลกของปีนี้และปีหน้าลง โดยชี้ว่าอานิสงส์จากราคาน้ำมันลดวูบ ถูกบ่อนเซาะจากแนวโน้มการขยายตัวน่าผิดหวังในยูโรโซนและญี่ปุ่น ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็อยู่ในช่วงชะลอตัว
ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกซ้ำเติมจากข้อมูลค้าปลีกของอเมริกาในเดือนธันวาคม ซึ่งออกมาอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ ด้วยยอดขายลดลงร้อยละ 0.9
ด้วยความกังวลว่าอานิสงส์จากราคาน้ำมันลดวูบ ถูกบ่อนเซาะจากแนวโน้มการขยายตัวน่าผิดหวังของเศรษฐกิจและคุกคุกคามของภาวะเงินฝืด ส่งผลให้ราคาทองคำเมื่อวันพุธ (14 ม.ค.) ปิดบวกในกรอบแคบๆ ท่ามกลางดอลลาร์ที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 0.10 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,234.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์