xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยชี้การโหมงานหนักเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ “ดื่มหนัก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - คำกล่าวที่ว่า การทำงานหักโหมเกินไปเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้คนเราหันไปดื่มสุรา ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องจริงในวันนี้ (13 ม.ค.) ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ออกโรงเตือนว่าการทำกิจกรรมทั้งสองควบคู่กันมากเกินควรจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา

คณะนักวิจัยชี้ว่า ผลการศึกษาในภาพรวมที่มุ่งทดลองกับกลุ่มตัวอย่างกว่า 400,000 คน เผยให้เห็นว่า ผู้ที่ทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นชั่วโมงทำงานสูงสุดตามเกณฑ์สหภาพยุโรป (อียู) นั้นมีแนวโน้มที่จะดื่มสุราเกินขนาดมากขึ้น

การศึกษาชิ้นนี้ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร BMJ รายงานว่า ในภาพรวม การทำงานนานหลายชั่วโมงจะไปกระตุ้นให้คนเรามีแนวโน้มที่จะดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์

ส่วนผู้ที่ทำงาน 49-54 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์มีความเสี่ยงที่จะดื่มสุราเกินขนาดเพิ่มขึ้นถึง 13 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทำงาน 35 ถึง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

สำหรับผู้ที่ทำงานสัปดาห์ละ 55 ชั่วโมงขึ้นไปนั้นจะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์

การดื่มสุราเกินขนาด หมายถึงหญิงที่ดื่มเกินสัปดาห์ละ 14 หน่วยสุรา และชายที่ดื่มเกิน 21 หน่วยสุราต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นระดับที่มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคตับ และโรคหัวใจ มะเร็ง เส้นโลหิตในสมองแตก และอาการทางจิต

ทั้งนี้ หนึ่งหน่วยสุรานั้นมีปริมาตรเท่ากับ เบียร์ 1 กระป๋อง ไวน์ 1 แก้ว หรือวิสกี้ 1 แก้ว

การค้นพบครั้งนี้กลายเป็นสถิติที่สนับสนุนหลักฐานก่อนหน้านี้ที่ว่า การทำงานหักโหมเกินไปมีส่วนทำให้คนเรามีพฤติกรรมดื่มสุราเกินขนาด

การวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษากลุ่มตัวอย่างในเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วกว่า 10 แห่ง ได้แก่ เบลเยียม อังกฤษ แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สเปน สวีเดน ไต้หวัน และสหรัฐฯ

แคสแซนดรา โอเกชูกวู จากภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ระบุในบทบรรณาธิการว่า “การวิเคราะห์อภิมานครั้งนี้ช่วยสนับสนุนข้อสงสัยที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้วว่า ผู้ที่ทำงานนานหลายชั่วโมงมักเห็นสุราเป็นหนทางที่ช่วยให้ตนสามารถอดทนกับความเจ็บปวด และความปวดร้าวการทำงานหนัก ทั้งยังช่วยสมานชีวิตการทำงานเข้ากับชีวิตครอบครัวให้ราบรื่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลทันตา”

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ชี้ว่าชั่วโมงการทำงานอันยาวนานนั้นมีส่วนทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคซึมเศร้า และวิตกกังวล

โอเกชูกวูกล่าวว่า จริงอยู่ที่การทำงานหักโหมเกินไปนั้นจะไปกระตุ้นให้คนเราหันไปดื่มสุราเกินขนาด แต่ความเสี่ยงดังกล่าวนั้นยังถือว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับประโยชน์ในเชิงปริมาณ นอกจากนี้ สภาวะการมีงานทำยังมีส่วนลดความความชุกของการดื่มสุราให้น้อยลง และช่วยให้คนเรามีโอกาสหายจากกพฤติกรรมดื่มสุราเกินขนาด มากกว่าคนว่างงาน

กระนั้น เราก็ไม่ควรละเลยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

โอเกชูกวูตั้งข้อสังเกตว่า “ที่จริงแล้วการค้นพบครั้งนี้อาจกระตุ้นให้มีการควบคุมชั่วโมงการทำงานต่อไปในภายภาคหน้า โดยถือเป็นมาตรการแทรกแซงด้านสาธารณสุข”


กำลังโหลดความคิดเห็น