เอเจนซีส์ - นักประดาน้ำอินโดนีเซียกู้อุปกรณ์บันทึกเสียงภายในห้องนักบินได้สำเร็จในวันอังคาร (13 ม.ค.) จึงเป็นอันว่าสามารถนำเอา “กล่องดำ” ทั้ง 2 กล่องประจำเครื่องบินโดยสารในเที่ยวบิน QZ8501 ของแอร์เอเชีย ขึ้นมาจากใต้ทะเลได้เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ทีมค้นหายังสามารถระบุตำแหน่งเครื่องยนต์ตัวหนึ่งซึ่งติดตั้งอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลประสิทธิภาพเครื่องยนต์อีกด้วย ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง นายใหญ่แอร์เอเชียประกาศลั่น จะนำสายการบินฟันฝ่าผ่านพ้น “ช่วงวิกฤตรุนแรงที่สุด” และยกระดับบริการให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป
หลังจากกู้อุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินของเที่ยวบิน QZ8501 ขึ้นมาได้ในวันจันทร์ (12) อีก 1 วันถัดมา ทีมนักประดาน้ำอินโดนีเซียก็สามารถกู้อุปกรณ์บันทึกเสียงในห้องนักบินสำเร็จ โดยที่ “กล่องดำ” ทั้งสองกล่องนี้จะให้ข้อมูลสำคัญที่สุดแก่ชุดสอบสวนค้นหาสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินโดยสารลำนี้ตกลงกลางทะเลชวาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางสภาพอากาศที่มีพายุรุนแรง ขณะบินจากเมืองสุราบายา ของอินโดนีเซียมุ่งหน้าสู่สิงคโปร์ พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 162 ชีวิต
นับจากเกิดเหตุ หน่วยกู้ภัยและค้นหา ต้องผจญกับสภาพอากาศและทัศนวิสัยเลวร้าย ส่งผลให้การค้นหาคืบหน้าช้ามาก จนถึงขณะนี้ เพิ่งกู้ร่างเหยื่อขึ้นมาได้ 48 รายเท่านั้น และเชื่อว่า ร่างผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังติดอยู่ในส่วนหลักของห้องโดยสารที่ยังหาไม่พบ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมกู้ภัยมีความคืบหน้าสำคัญหลังจากตรวจพบสัญญาณ ping จากกล่องดำของเครื่องบิน และก็สามารถกู้กล่องดำกล่องแรกขึ้นมาได้ จากนั้นจึงตามมาด้วยกล่องที่ 2 ซึ่งทีมนักประดาน้ำได้นำขึ้นเรือรบ “บันดา อาเจะห์” เพื่อส่งขึ้นเครื่องบินไปให้คณะกรรมาธิการความปลอดภัยในการขนส่งแห่งชาติตรวจสอบ โดยคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการจัดทำรายงานเบื้องต้น และ 1 ปีสำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์
การวิเคราะห์ข้อมูลจากกล่องดำทั้ง 2 กล่องจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสของบริษัทแอร์บัส ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินที่ประสบอุบัติเหตุครั้งนี้ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากประเทศที่พลเมืองโดยสารอยู่ในเที่ยวบินนี้
จุดที่พบอุปกรณ์บันทึกเสียงในห้องนักบินนั้น อยู่ไม่ห่างจากบริเวณที่พบอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบิน แต่เนื่องจากอยู่ใต้ซากชิ้นส่วนเครื่องบินขนาดใหญ่ จึงใช้เวลานานกว่าในการกู้
ทั้งนี้ อุปกรณ์บันทึกเสียงในห้องนักบินมีเสียงสนทนาช่วง 2 ชั่วโมงสุดท้ายระหว่างนักบินบนเครื่องกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ ตลอดจนเสียงสนทนาระหว่างนักบินด้วยกัน ขณะที่อุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินมีข้อมูลความเร็วลมและทิศทางการบิน
นอกจากนั้น นูร์คาห์โย อูโตโม จากคณะกรรมาธิการการขนส่งของอินโดนีเซีย ยังเปิดเผยว่า นักประดาน้ำสามารถระบุตำแหน่งเครื่องยนต์เครื่องหนึ่งของเครื่องบิน ซึ่งมีหน่วยควบคุมที่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ติดตั้งอยู่
เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียเผยว่า จากนี้ไปจุดโฟกัสในการค้นหาจะอยู่ที่ส่วนลำตัวเครื่องบิน แม้อูโตโมเชื่อว่า ชิ้นส่วนดังกล่าวแตกเป็นเสี่ยงแล้วก็ตาม เนื่องจากมีการวิเคราะห์จากชิ้นส่วนที่กู้ได้ก่อนหน้านี้ว่า เครื่องบินระเบิดขณะตกกระแทกผิวน้ำอย่างรุนแรง
อุบัติเหตุครั้งนี้ถือเป็นอุบัติเหตุรุนแรงครั้งแรกของแอร์เอเชีย ที่ประสบความสำเร็จในการให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำมาตลอด 13 ปี
โทนี่ เฟอร์นันเดซ ซีอีโอของแอร์เอเชียได้ส่งข้อความถึงลูกค้าว่า “ช่วง 2-3 สัปดาห์นี้เป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสที่สุดในชีวิตของผม นับจากเริ่มก่อตั้งแอร์เอเชีย
“อย่างไรก็ตาม เราจะยังคงเป็นสายการบินโลว์คอสต์ที่ดีที่สุดในโลกและดียิ่งๆ ขึ้นสำหรับคุณ”