เอพี - ชาวอิรักส่วนใหญ่ต่างมองว่า ชาติที่เป็นพันธมิตรในการทำสงครามปราบกลุ่มนักรบญิฮาดหัวรุนแรง “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ที่แข็งแกร่งที่สุดไม่ใช่สหรัฐฯ หรือปฏิบัติโจมตีกลุ่มติดอาวุธทางอากาศโดยกลุ่มชาติพันธมิตร แต่เป็น “อิหร่าน” ประเทศที่ได้รับเสียงชื่นชมว่า สามารถหยุดยั้งไม่ให้กลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มนี้เคลื่อนพลเข้าสู่กรุงแบกแดดได้
อิหร่าน ซึ่งเป็นดินแดนของชาวมุสลิมชีอะห์ และไม่ถือเป็นชนชาติอาหรับ รับหน้าที่ปกป้องอิรักจากกลุ่มหัวรุนแรงมุสลิมสุหนี่ และสามารถตอบสนองความต้องการของรัฐบาลอิรัก ที่กำลังขาดแคลนกำลังรบภาคพื้นคอยสนับสนุน
ในแต่ละวันจะมีเครื่องบินทหารของอิหร่านร่อนลงจอดในท่าอากาศยานกรุงแบกแดด 2 - 3 ลำ เพื่อส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ และเครื่องกระสุนมาช่วยอิรัก ขณะที่หน่วย “คุดส์” ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ ซึ่งเป็นหน่วยรบแข็งแกร่งที่สุดของอิหร่าน และพล.อ.คาสเซิม ซูเลอิมานี ซึ่งเป็นผู้บัญชาการที่โด่งดังที่สุดกำลังเข้าสนับสนุนกองกำลังอิรัก และทำหน้าที่เป็นผู้นำในทางพฤตินัย ของกองกำลังอาสามุสลิมชีอะห์ในอิรัก ซึ่งถือเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการสู้รบต้านกลุ่มไอเอส นอกจากนี้อิหร่านยังเคยดำเนินปฏิบัติการทางอากาศขับไล่กลุ่มหัวรุนแรง ให้ล่าถอยออกจากจังหวัดชายแดนแห่งหนึ่งมาแล้ว
ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ในเวลานี้อิหร่านกำลังแผ่อิทธิพลเหนืออิรักมากขึ้นในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หลังจากที่เดิมทีประเทศนี้เริ่มครอบงำแบกแดดมานับตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนกำลังทหารในช่วงสิ้นปี 2011
แม้ว่าปฏิบัติการทางอากาศของกลุ่มชาติพันธมิตร ภายใต้การนำของสหรัฐฯ จะช่วยขับไล่กลุ่มติดอาวุธในพื้นที่บางส่วนทางเหนือของประเทศให้ล่าถอยกลับไป ทั้งยังตีฝ่าวงล้อมในเมืองของชาวมุสลิมชีอะห์ แต่ชาวอิรักจำนวนมากก็ยังเชื่อว่า สหรัฐฯ มีเจตนาจะช่วยชาวเคิร์ดเป็นหลัก และแม้ว่ากลุ่มชาติพันธมิตรได้ดำเนินปฏิบัติการทางอากาศ เพื่อช่วยให้กองกำลังเคิร์ดสามารถยับยั้งไม่ให้กลุ่มหัวรุนแรงรุกคืบเข้าสู่เออร์บิล อันเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก เมื่อเดือนสิงหาคม แต่ชาวอิรักส่วนมากก็ลงความเห็นว่า เป็นเพราะอิหร่านส่งเครื่องบินลำเลียงอาวุธไปสนับสนุนชาวเคิร์ดได้ทันท่วงทีมากกว่า
การที่กองทัพอิรักเกิดเพลี่ยงพล้ำในช่วงที่กลุ่มไอเอสบุกยึดพื้นที่มากมายหลายจุด ทั่วภาคเหนือและภาคตะวันตกของอิรัก เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ได้เปิดโอกาสให้อิหร่านก้าวเข้ามาแสดงบทบาท ขณะที่คลื่นพลเรือนชาวชีอะห์ ที่อาสาร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพอิรักก็ช่วยทดแทนกำลังรบที่กำลังขาดแคลน ทั้งยังช่วยยกระดับกลุ่มติดอาวุธชีอะห์ที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน
ชาวสุหนี่บางส่วนเริ่มแสดงความวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด หนึ่งในนั้นคือ ส.ส.โมฮัมเหม็ด อัล-คาร์บูลี ที่เป็นมุสลิมสุหนี่ โดยเขากล่าวว่า สหรัฐฯ ต้องช่วยอิรักต่อกรกับกลุ่มหัวรุนแรงให้มากขึ้น เพื่อคานอำนาจอิหร่าน
เมื่อไม่นานมานี้ ฮาดี อัล-อามีรี นักการเมืองชีอะห์ผู้มีชื่อเสียง และมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับอิหร่าน รวมทั้งเป็นผู้นำกองกำลัง “บาดร์” อันทรงพลังได้ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ว่า อิรักตกเป็นเหยื่อของการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ในตะวันออกกลางมานานนับสิบๆ ปีของสหรัฐฯ พร้อมกันนี้เขาได้กล่าวหาว่า รัฐบาลชุดก่อน ที่ปกครองพื้นที่ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของกลุ่มหัวรุนแรงไอเอสว่า หลงใหลได้ปลื้มกับการถูกสหรัฐฯ อุปถัมภ์อุ้มชูในอดีต
ในระหว่างการปราศรัยในพิธีศพของสมาชิกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน ที่ถูกพลแม่นปืนของกลุ่มรัฐอิสลามสังหาร อัล-อามีรี รำพึงว่า ไฮดี อัล-อาบาดี นายกรัฐมนตรีชาวชีอะห์ของอิรัก ที่บริหารประเทศมานาน 3 เดือนอาจกลายเป็น “รัฐบาลพลัดถิ่น” ไปแล้ว หากอิหร่านไม่ยื่นมือเข้าช่วยแบกแดดไว้ได้ทัน ทั้งนี้ ตามรายงานจากสำนักข่าวฟาร์ส ของทางการเตหะราน
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงนักการเมืองชีอะห์เท่านั้นที่ยกย่องสรรเสริญอิหร่าน
ระหว่างเดินทางเยือนกรุงเตหะรานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คอลิด อัล-โอเบดี รัฐมนตรีกลาโหมชาวสุหนี่ของอิรักชี้ว่า ความช่วยเหลือจากอิหร่านนั้นถือเป็น “สิ่งจำเป็นทางยุทธศาสตร์” ในการต่อกรกับกลุ่มหัวรุนแรงในอิรัก
ทางด้าน สจวร์ต โจนส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอิรักก็ยอมรับกับเอพีว่า อิหร่านมีบทบาทสำคัญในการสู้รบกับกลุ่มไอเอส และชี้แจงด้วยว่า สหรัฐฯ กับอิหร่านไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ในปฏิบัติการทหารที่อิรัก
พล.อ.มาร์ติน เดมป์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของแดนอินทรี กล่าวว่า บรรดาผู้นำอิรักได้แจ้งให้สหรัฐฯ ทราบว่า เรื่องที่อิหร่านดำเนินปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลาม และวอชิงตันกำลังเฝ้าจับตามองความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติอย่างใกล้ชิด