เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – หากคุณไม่เคยหวาดผวาการนั่งเครื่องบิน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2014 ที่ผ่านมา อาจปลุกความกลัวที่ฝังลึกสุดในก้นบึ้งความคิดของคุณ แม้ว่าตามสถิติแล้วการเดินทางทางอากาศในทุกวันนี้มีความปลอดภัยมากขึ้นก็ตาม
กรณีเครื่องบินโดยสารของแอร์เอเชีย เที่ยวบิน QZ8501 ซึ่งนำผู้โดยสารและลูกเรือรวม 162 คน บินจากเมืองสุราบายา ของอินโดนีเซีย มุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ ได้เกิดสูญหายไปขณะเผชิญอากาศเลวร้ายบริเวณกลางทะเลชวาเมื่อเช้าวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญช่วงส่งท้ายปี 2014 ขณะที่โศกนาฏกรรมซึ่งเขย่าประสาทแวดวงการบินโลกมากที่สุดของปีที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ หนีไม่พ้น 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลนส์ เนื่องจากเป็นการตีแผ่ความจริงอันน่าตกใจว่า เครื่องบินโดยสารสามารถถูกยิงตกหรือหายสูญไปเฉยๆ อย่างไร้ร่องรอย
หลายๆ เหตุการณ์ในปี 2014 กระตุ้นให้ทั่วโลกลุกขึ้นมาทบทวนมาตรการป้องกันล่วงหน้า และขณะเดียวกัน ก็ทำให้คนที่หวาดผวาการขึ้นเครื่องบินมีเหตุผลสนับสนุนความกลัวเหล่านั้นมากขึ้น
หลักฐานชิ้นเอกคือ MH370 ที่ได้ตำแหน่งตีคู่ “เอมิเลีย เอียร์ฮาร์ต” ตำนานลึกลับของวงการการบินในอดีตกาล หรืออีกนัยหนึ่งคือการสูญหายไร้ร่องรอย
เครื่องโบอิ้ง 777 หายเข้ากลีบเมฆเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พร้อมกับผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน หลังจากระบบสื่อสารถูกปิดการทำงานอย่างจงใจ และนับจากนั้นก็ไม่ปรากฏร่องรอยของเครื่องบินลำนี้อีกเลย แม้นานาชาติระดมกำลังค้นหาทั้งบนผิวน้ำและใต้น้ำนานหลายเดือนจนกระทั่งขณะนี้
ไม่มีใครรู้ว่า เกิดเหตุฉุกเฉินบนเครื่อง ถูกจี้โดยสลัดอากาศหรือนักบินแตกแถว แบตเตอรี่ระเบิด หรือด้วยเหตุผลกลใดก็ตามที่ทำให้ MH370 หายไป
สี่เดือนให้หลัง MH17 ของมาเลเซียแอร์ไลนส์เช่นกัน ระเบิดกลางอากาศเหนือยูเครน ผู้โดยสารและลูกเรือทั้ง 298 คนเสียชีวิต นำไปสู่การเผชิญหน้าของมหาอำนาจ เมื่อฝ่ายตะวันตกกล่าวหาว่า กบฏแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย เป็นตัวการสอยเครื่องบินของมาเลเซีย แอร์ไลนส์ด้วยขีปนาวุธ ขณะที่รัสเซียตอบโต้ว่า เป็นฝีมือของเครื่องบินขับไล่ของกองทัพยูเครนต่างหาก
ถัดจากนั้นอีกเพียงสัปดาห์เดียว เครื่องบินโดยสารของทรานส์เอเชีย แอร์เวยส์ ตกในบริเวณช่องแคบไต้หวันท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้าย และแอร์ แอลจีเรีย เที่ยวบิน 5017 ตกในมาลีโดยไม่รู้สาเหตุ ทั้งสองเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตรวมกัน 164 ราย และตอกย้ำความคิดที่ว่า เครื่องบินสามารถร่วงลงจากฟ้าได้จริงๆ
ไม่เพียงเท่านั้น การเดิมพันของมนุษยชาติในการพยายามฝ่าข้ามผ่านพรมแดนการบิน ต้องสะดุดลงอย่างจังในเดือนตุลาคม เมื่อยานของเวอร์จิน กาแลกติก ของนักธุรกิจพันล้านชาวอังกฤษ ริชาร์ด แบรนสัน ที่มีเป้าหมายนำนักท่องเที่ยวสัมผัสขอบอวกาศ เกิดระเบิดขณะทดสอบการบิน ทำให้นักบินเสียชีวิต 1 คน
เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นขณะที่การเดินทางทางอากาศกำลังได้รับการปรับปรุงให้มีความปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ
กลางเดือนธันวาคมนี้ เอวิเอชั่น เซฟตี้ เน็ตเวิร์กในเนเธอร์แลนด์ แถลงว่า ปี 2014 เป็นปีที่สายการบินพาณิชย์ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงต่ำสุดทำสถิติใหม่ คือเพียงแค่ 7 กรณี (สถิตินี้ยังไม่รวมเที่ยวบิน QZ8501)ซึ่งถือว่า น้อยนิดมากเมื่อคิดว่า แต่ละปีมีเที่ยวบินให้บริการหลายล้านเที่ยว และรองรับผู้โดยสารจำนวนรวมหลายพันล้านคน
เทียบกับปี 2013 ที่มีอุบัติเหตุร้ายแรง 15 กรณี และสถิติเฉลี่ยต่อปีนับจากปี 1946 อยู่ที่ 32 กรณี
เจอร์รี่ โซจัตมัน ที่ปรึกษาด้านการบินในจาการ์ตาชี้ว่า ความที่การเดินทางด้วยเครื่องบินปลอดภัยมากขึ้น จึงทำให้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่พบบ่อยนักดูลึกลับและน่าตกตะลึงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากวัดจากยอดผู้เสียชีวิต ปี 2014 ถือเป็นปีที่มีการสูญเสียมากที่สุดในรอบ 4 ปีด้วยตัวเลข 762 ราย (ยังไม่รวมการสูญเสียของเที่ยวบิน QZ8501) หลังจากปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เพียง 224 ราย แต่หากไม่นับอุบัติเหตุที่เกิดกับมาเลเซีย แอร์ไลนส์ ตัวเลขของปี 2514 จะอยู่ที่เพียง 225 รายเท่านั้น
ทว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นยังคงไม่ส่งผลต่อการเดินทางทางอากาศแต่อย่างใด โดยสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เผยว่า ระยะทางการเดินทางรวมของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5.8% ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม
กระนั้น โศกนาฏกรรมของ MH370 กำลังท้าทายความคิดสมัยใหม่ของโลกที่เชื่อมโยงถึงกันและมีการติดตามตรวจสอบในระดับเข้มข้น
เพื่อลดโอกาสในเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอย คาดว่า หน่วยงานด้านการบินจะประกาศมาตรฐานการติดตามเครื่องบินในระดับทั่วโลกกันใหม่ในเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจรวมถึงการรายงานตำแหน่งเครื่องบินทุกนาทีหลังจากมีการเปลี่ยนเส้นทางโดยไม่คาดคิด และอาจรายงานทุก 15 นาทีระหว่างการบินปกติ จากขณะนี้ที่ต้องรายงานทุกครึ่งชั่วโมง
เรย์มอนด์ เบนจามิน ประธานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) แสดงความเห็นว่า กรณี MH370 ที่เปิดเผยให้รู้ว่า ธุรกิจสายการบินยังไม่มีระบบติดตามตำแหน่งเครื่องบิน สร้างความประหลาดใจให้คนจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี เบนจามินเสริมว่า ขณะนี้ ICAO และอุตสาหกรรมการบินมีฉันทามติร่วมกันในการพัฒนาระบบติดตามตำแหน่งการเดินทางทางอากาศทั้งหมดทั่วโลก เพื่อยกระดับการรับมือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์คล้ายกับ MH370 โดยเฉพาะเพื่อการจัดระเบียบการค้นหาและการกู้ภัยหากเกิดอุบัติเหตุ
ICAO ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า ความเสี่ยงในการบินเหนือพื้นที่ที่มีความขัดแย้งนั้น ได้รับการประเมินและสื่อสารอย่างเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่รัฐจำนวนมากที่ครอบครองอาวุธประสิทธิภาพสูง โดยจะมีการพิจารณาข้อเสนอจากทุกฝ่ายในการประชุมประจำปีของ ICAO ที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2015
กระนั้น คาดว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในการจำกัดโอกาสที่นักบินคิดคดหรือสลัดอากาศจะปิดระบบสื่อสารบนเครื่องบิน เหมือนที่เกิดขึ้นในการวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001
ตัวอย่างเช่น นักบินธรรมดาทั่วไป ยังอาจมีความจำเป็นที่จะต้องปิดระบบสื่อสารเพื่อการป้องกัน เช่น หากระบบทำงานผิดพลาดและอาจทำให้เกิดไฟไหม้
ในส่วนการติดตั้งกล้องวงจรปิดในห้องนักบิน ได้รับการพิจารณาว่า ทำไม่ได้ด้วยเหตุผลทางเทคนิค
เดวิด แลร์เมาต์ บรรณาธิการด้านความปลอดภัยของนิตยสารไฟลต์โกลบัล วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงที่มีการเสนอกันว่า “เกาไม่ถูกที่คัน” และคิดว่า อีกไม่นานคนก็จะลืมเลือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการการบินปี 2014 และทัศนคติที่มีต่อการบินเพื่อการเดินทางทำธุรกิจหรือท่องเที่ยวจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เนื่องจากในเชิงสถิติแล้ว การเดินทางรูปแบบนี้ถือว่ามีความปลอดภัยขึ้นกว่าที่ผ่านมา
แต่สำหรับทอม บันน์ ผู้บริหาร SOAR บริษัทอเมริกาที่ให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่กลัวการบิน แย้งว่า ความไม่ไว้วางใจในการบินฝังรากลึกในจิตใจนักเดินทางและจะมีผลตกค้างต่อไปอีกนาน โดยอ้างอิงคำบอกเล่าของนักเดินทางที่หวาดกลัวการบินที่ยกให้โศกนาฏกรรมที่เกิดกับมาเลเซีย แอร์ไลนส์เป็นฝันร้ายสุดขีด