เอเอฟพี – มอสโกประกาศ “หลักนิยมทางทหาร” ฉบับใหม่วานนี้(26) ซึ่งระบุว่าองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) คือ “ภัยคุกคามขั้นพื้นฐาน” (fundamental threat) ต่อสหพันธรัฐรัสเซีย
เอกสารทางทหารซึ่งผ่านความเห็นชอบจากประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน มีเนื้อหาประณาม นาโต ที่พยายาม “เสริมกำลังทหารมาประชิดพรมแดนรัสเซียโดยตรง และยังติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ” ในยุโรปกลาง
นาโต เคยถูกประกาศให้เป็นภัยคุกคามของรัสเซียมาแล้วในหลักนิยมทางทหารฉบับปี 2010 แต่สงครามแบ่งแยกดินแดนยูเครนที่เกิดขึ้นในปีนี้ยิ่งทำให้ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับตะวันตกทวีความรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
การที่ นาโต ส่งทหารเข้าไปประจำการในโปแลนด์ รวมถึงรัฐแถบบอลติก ได้สร้างความโกรธแค้นไม่น้อยต่อรัสเซีย และมอสโกยังมองว่า แผนติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธของ นาโต ในยุโรปกลางที่สหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตีมีเป้าหมายเพื่อที่จะคุกคามประเทศของตนโดยตรง
รัสเซียประกาศถ้อยคำแข็งกร้าว หลังจากที่รัฐสภายูเครนโหวตยกเลิกสถานะ“ประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” เมื่อวันอังคาร(23) ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่จะเปิดทางให้ยูเครนกลายเป็นสมาชิกนาโตได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ยูเครนยังมีภารกิจหนักที่ต้องทำหากคิดจะยกระดับกองทัพให้เทียบเท่ามาตรฐานนาโต ขณะที่สมาชิกหลักๆ หลายประเทศ รวมถึงฝรั่งเศสและเยอรมนี ยังลังเลกับแนวคิดที่จะรับกรุงเคียฟเข้าเป็นสมาชิกใหม่
แม้จะใช้ถ้อยคำต่อต้านนาโตอย่างชัดเจน แต่หลักนิยมทางทหารของรัสเซียยังคงเน้นหนักไปที่การป้องกันอธิปไตยของชาติ โดยระบุว่า กองทัพรัสเซียมีสิทธิ์ใช้มาตรการทางทหารเข้าตอบโต้ก็ต่อเมื่อทางเลือกที่ปราศจากความรุนแรงอื่นๆ ไม่อาจระงับความขัดแย้งได้แล้ว
เอกสารฉบับนี้ระบุว่า “แนวโน้มที่จะเกิดสงครามขนาดใหญ่ต่อรัสเซียมีน้อยลง” แต่รัสเซียยังคงเผชิญภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น ข้อพิพาทดินแดน, การถูกชาติอื่นๆ แทรกแซงกิจการภายใน และการใช้อาวุธทางยุทธวิธีในห้วงอวกาศ
หลักนิยมทางทหารของรัสเซียยังเสนอแนวคิด “ห้ามปรามการใช้อาวุธนิวเคลียร์” (non-nuclear dissuasion) โดยมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองกำลังทหารแบบดั้งเดิม และยังสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในองค์กรความมั่นคงระดับภูมิภาค เช่น เครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States) ซึ่งประกอบด้วยอดีตรัฐในกลุ่มสหภาพโซเวียต 9 ประเทศ และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยรัสเซีย จีน และอดีตรัฐโซเวียตแถบเทือกเขาคอเคซัส
อย่างไรก็ดี กองทัพหมีขาวยังขอสงวนสิทธิ์ในการนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้ ในกรณีที่รัสเซียหรือชาติพันธมิตรถูกโจมตี หรือเผชิญ “ภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของรัฐ”