เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผลการศึกษาล่าสุดชี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกจะส่งผลเสียอย่างสำคัญต่อ “การผลิตอาหาร” หล่อเลี้ยงประชากรโลก ระบุ ปริมาณอาหารโลกอาจหายไปจากระบบราวร้อยละ 18 หรือเกือบ 1 ใน 5 ภายในระยะเวลา 35 ปี นับจากนี้ หรือภายในปี ค.ศ. 2050
ผลการศึกษาดังกล่าวซึ่งมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร “เอนไวรอนเมนท์ รีเสิร์ช เล็ตเทอร์” ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกจะส่งผลกระทบเลวร้ายอย่างสำคัญต่อการผลิตอาหารของมนุษยชาติ และว่า ผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในช่วงชีวิตของประชากรส่วนใหญ่ของโลกในปัจจุบัน
ด้าน ไมเคิล โอเบอร์สไตเนอร์ หนึ่งในผู้ร่วมทำการศึกษาในครั้งนี้ ปัญหาที่เด่นชัดที่สุดจากผลพวงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก คือ ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรซึ่งจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะปัญหาที่มีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาครั้งนี้ระบุว่า ทวีปยุโรปมีแนวโน้มที่จะสามารถ “พึ่งพาตนเอง” และรอดพ้นจากวิกฤตขาดแคลนอาหารและน้ำได้มากที่สุดจากความสำเร็จในการบริหารจัดการการผลิตอาหารและการจัดสรรน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สวนทางกับทวีปแอฟริกาซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่จะยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร จากต่างประเทศต่อไปอีกยาวนาน
ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้อย่างเหมาะสม ก็มีโอกาสไม่น้อยที่ปริมาณการผลิตอาหารทั่วโลกอาจปรับเพิ่มขึ้นได้ราว 3 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2050 แทนที่จะปรับลดลงถึง 18 เปอร์เซ็นต์ตามที่รายงานระบุไว้