xs
xsm
sm
md
lg

‘ปากีสถาน’ไว้อาลัยเหยื่อเกือบ 150 คนที่ถูกสังหารหมู่ในโรงเรียน

เผยแพร่:   โดย: กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์ออนไลน์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pakistan mourns school slaughter
By Asia Times Online staff
17/12/2014

ปากีสถานประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน ให้แก่เด็กนักเรียน 132 คนและครูอาจารย์เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนอีก 9 คน ซึ่งถูกสังหารไป ในเหตุการณ์โจมตีที่โรงเรียนซึ่งดำเนินการโดยกองทัพบกแห่งหนึ่ง ในเมืองเปชาวาร์ ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเมื่อวันอังคาร (16 ธ.ค.) โดยที่กลุ่มตอลิบานชาวปากีสถาน หรือ “เตห์ริก-อี ตอลิบาน ปากีสถาน” ออกมาประกาศตนเป็นผู้รับผิดชอบกระทำการคราวนี้ ทางด้านนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชาริฟ แถลงว่า ปากีสถานมาถึง “ช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด” แล้ว ในการเข้าต่อสู้กับการก่อการร้าย

ปากีสถานประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน ให้แก่เด็กนักเรียน 132 คนและครูอาจารย์เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนอีก 9 คน (หมายเหตุผู้แปล- ตามการแถลงของทางการปากีสถานในค่ำวันพุธที่ 17 ธ.ค. จำนวนเหยื่อที่เสียชีวิตทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 148 คน โดยที่จำนวนนักเรียนซึ่งถูกเข่นฆ่ายังอยู่ที่ 132 คน) ซึ่งถูกสังหารไป ในเหตุการณ์โจมตีโรงเรียนที่ดำเนินการโดยกองทัพบกแห่งหนึ่ง ในเมืองเปชาวาร์ ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเมื่อวันอังคาร (16 ธ.ค.) โดยที่กลุ่มตอลิบานชาวปากีสถาน (Pakistani Taliban) ออกมาประกาศตนเป็นผู้รับผิดชอบกระทำการคราวนี้ ทางด้านพวกหัวรุนแรงติดอาวุธ 7 คนที่ลงมือปฏิบัติการคราวนี้ ก็ถูกเด็ดชีพเช่นกัน ในระหว่างที่กองทัพบกส่งทหารรุกเข้าชิงโรงเรียนแห่งนี้กลับคืนมา

ผู้คนทั้ง 141 (หรือตามตัวเลขล่าสุดคือ 148) คนเหล่านี้ถูกเข่นฆ่า เมื่อพวกหัวรุนแรงติดอาวุธจู่โจมเข้าไปในโรงเรียน “อาร์มี่ พับลิก สคูล” (Army Public School) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ เขตบ้านพักของกองทัพบก และโรงเรียนการแพทย์แห่งหนึ่ง ทั้งนี้ โฆษกของกลุ่ม “เตห์ริก-อี ตอลิบาน ปากีสถาน” (Tehrik-e Taliban Pakistan ใช้อักษรย่อว่า TTP) หรือเป็นที่รู้จักเรียกขานกันในชื่อว่า กลุ่ม “ตอลิบานชาวปากีสถาน” (Pakistani Taliban) ด้วย ได้ออกมาประกาศว่ากลุ่มของตนเป็นผู้รับผิดชอบ และบอกว่านี่เป็นการแก้แค้นต่อการที่ฝ่ายทหารปากีสถานได้เปิดยุทธการปราบปรามพวกเขา ในบริเวณพื้นที่ชนเผ่าพื้นถิ่นทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ อันเป็นอาณาบริเวณซึ่งทราบกันว่าเป็นแหล่งพักพิงซ่องสุมของกลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้ตามรายงานของ เรดิโอฟรียุโรป/เรดิโอฟรีลิเบอร์ตี้ (http://www.rferl.org/content/taliban-attack-peshawar-school-pakistan/26746308.htm)

ยุทธการปราบปรามของกองทัพบกปากีสถานดังกล่าว ซึ่งมีชื่อว่า ยุทธการ “ซาร์บ-อี-อัซบ์” (Zarb-e-Azb) เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงฤดูร้อน และยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงเวลานี้ ประมาณการกันว่า ในการรุกโจมตีคราวนี้ ได้สังหารพวกหัวรุนแรงติดอาวุธตายไปประมาณ 1,000 คน และทำให้ประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนต้องอพยพพลัดพรากจากที่อยู่ที่ทำกิน

“เราเลือกโรงเรียนของกองทัพบกแห่งนี้เป็นเป้าโจมตี ก็เพราะว่ารัฐบาลเองกำลังพุ่งเป้าเล่นงานครอบครัวและผู้หญิงของพวกเรา” โมฮัมเหม็ด อุมาร์ คูราซานี (Mohammed Umar Khurasani) ซึ่งทำหน้าที่เป็นโฆษกให้แก่กลุ่มตอลิบานชาวปากีสถาน แถลงเอาไว้เช่นนี้ ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์การ์เดียน (http://www.theguardian.com/world/2014/dec/16/pakistan-taliban-peshawar-massacre-attack) เขากล่าวต่อไปว่า “เราต้องการให้พวกเขาได้รู้สึกถึงความเจ็บปวดอย่างเดียวกันนี้บ้าง”

หลังจากเกิดเหตุการณ์โจมตีโรงเรียนคราวนี้ ซึ่งพวกนักวิจารณ์ของสื่อมวลชนท้องถิ่นบอกกันว่า เป็นเหตุการณ์ “9/11” ของปากีสถานแล้ว ฝ่ายทหารของปากีสถานก็ได้ลงมือปฏิบัติการลงโทษตอบโต้อย่างรวดเร็ว ด้วยการเปิดการถล่มโจมตีทางอากาศอย่างกว้างขวางต่อที่มั่นต่างๆ ในบริเวณชายแดนติดต่อกับอัฟกานิสถานของพวกหัวรุนแรงตอลิบาน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กระทั่งกลุ่มตอลิบานชาวอัฟกานิสถาน (Afghan Taliban) ก็ยังออกมาประณามการก่อเหตุโจมตีโรงเรียนคราวนี้ด้วย

ในขณะที่เหยื่อเคราะห์ร้ายของเหตุสังหารหมู่ กำลังทยอยได้รับการจัดพิธีศพตามประเพณี ก็เกิดมีการตั้งคำถามขึ้นมาด้วยว่า มีการปล่อยปละให้เกิดเรื่องร้ายแรงขนาดนี้ขึ้นมาได้อย่างไร หนังสือพิมพ์ “ดอว์น” (Dawn) ของปากีสถาน เขียนบทบรรณาธิการที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “New blood-soaked benchmark” (ขีดหมายใหม่แห่งการนองเลือด) เรียกร้องต้องการจะทราบว่า “ฝ่ายข่าวกรองหายไปไหน?” เพราะหน่วยงานข่าวกรองพวกนี้แหละที่ควรต้องมีหน้าที่ป้องกันขัดขวางไม่ให้เกิดการโจมตีในลักษณะเช่นนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโจมตี “ภายในตัวเมืองใหญ่ๆ และในพื้นที่ภายในเมืองใหญ่ดังกล่าว ที่ควรถูกบรรจุเอาไว้ในระดับแถวบนๆ ของบัญชีรายชื่อสถานที่ซึ่งต้องดำเนินการดูแลรักษาความปลอดภัย”

บทบรรณาธิการชิ้นนี้ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับระยะเวลาที่ต้องใช้ “เพื่อการค้นหาและจับกุมหรือสังหารพวกหัวรุนแรงติดอาวุธเหล่านี้ ภายหลังที่การโจมตีเริ่มต้นขึ้นมาแล้ว จากการที่ในคราวนี้ต้องใช้ระยะเวลานานเหลือเกินในการทำเรื่องเช่นนี้ มันก็ดูจะเป็นการบ่งบอกให้เห็นว่า พวกผู้บังคับบัญชาระดับรับผิดชอบการปฏิบัติการตอบโต้ อาจจะไม่สามารถหาแผนผังของโรงเรียนมาไว้ในมือได้อย่างฉับไว และไม่ได้มีการวางแผนการเพื่อการกู้ภัยเตรียมเอาไว้เลย”

อาซิม บัจวา (Asim Bajwa) โฆษกของฝ่ายทหารแถลงจากเปชาวาร์ว่า พวกผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ใช้บันไดปีนข้ามกำแพงด้านหลังโรงเรียน และหลังจากเข้าไปได้สำเร็จแล้ว ระหว่างที่พวกเขาบุกเข้าไปในหอประชุมของโรงเรียนนั้น ได้เปิดการยิงกระหน่ำแบบไม่เลือกหน้า คนร้ายเหล่านี้ไม่ได้ตั้งข้อเรียกร้องใดๆ เลย และพยายามที่จะวางระเบิดเอาภายในบริเวณโรงเรียนหลายจุด ขณะที่ทำการโจมตี ทั้งนี้ ผู้บุกรุกทั้งหมดที่มีอยู่ 7 คน ทุกคนต่างสวมเสื้อกั๊กติดระเบิดฆ่าตัวตาย

ขณะที่บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ดอว์น พยายามที่จะมองการโจมตีคราวนี้จากบริบทอันกว้างไกลมากขึ้น นั่นคือภายในกรอบของการก่อเหตุรุนแรงของพวกฝักใฝ่ความคิดอุดมการณ์แบบอิสลาม ซึ่งได้เที่ยวก่อการร้ายและหว่านโปรยความตายตลอดทั่วทั้งปากีสถานมาเป็นเวลานานปีแล้ว ทั้งนี้ บทบรรณาธิการเสนอว่า จุดเริ่มต้นลำดับแรกก่อนอื่นใด ก็คือ “รัฐควรที่จะยอมรับว่าตนเองยังไม่ค่อยได้มีแผนการหรือยุทธศาสตร์อะไรเลยที่จะใช้ในการต่อสู้กับพวกหัวรุนแรงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การเอาแต่ปฏิเสธไม่ยอมรับเรื่องนี้มีแต่จะนำไปสู่การกระทำอย่างโหดเหี้ยมป่าเถื่อนซึ่งเลวร้ายยิ่งขึ้นกว่านี้อีกเท่านั้น”

ทางด้าน ทรีบูน (Tribune) หนังสือพิมพ์ปากีสถานอีกฉบับหนึ่ง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า วันที่ 16 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุโจมตีครั้งนี้ขึ้นมานั้น ยังเป็น “วันที่ปากีสถานต้องสูญเสียปีกทางด้านตะวันออกของตน [ในปัจจุบันก็คือบังกลาเทศ] ไปด้วย” พร้อมกับกล่าวถึงการโจมตีโรงเรียนคราวนี้ว่าเป็น “เหตุการณ์ 9/11 ของพวกเรา ... เป็นการโจมตีกระหน่ำใส่อนาคตของปากีสถาน, ใส่บุตรชายและบุตรสาววัยเยาว์ของปากีสถาน การฆาตกรรมหมู่คราวนี้ ... เป็นการประกาศแถลงให้เห็นใบหน้าที่ป่าเถื่อนโหดเหี้ยมที่สุดของการก่อความไม่สงบของพวกตอลิบาน ซึ่งสร้างภัยพิบัติให้แก่ประเทศชาติมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว”

สำหรับนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชาริฟ ได้บอกกับผู้สื่อข่าวในขณะที่เขาเดินทางมาดูสถานการณ์ที่เปชาวาร์ว่า “ช่วงเวลานี้ช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย ประชาชนของปากีสถานจักต้องสามัคคีรวมกำลังกันในการต่อสู้นี้ การโจมตีเหล่านี้จะไม่สามารถทำให้ความแน่วแน่เด็ดเดี่ยวของเราต้องอ่อนแรงหย่อนคลายลงไป”

อันที่จริง การโจมตีหฤโหดคราวนี้ ได้ทำให้การทะเลาะเบาะแว้งทางการเมืองภายในประเทศ มีอันปิดฉากลงชั่วคราวได้จริงๆ โดยที่ อิมรอน ข่าน (Imran Khan) ผู้นำของพรรคปากีสถาน เตห์รีก-อี-อินซัฟ (Pakistan Tehreek-e-Insaf) ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ยินยอมประกาศยกเลิกการประท้วงด้วยการนัดหยุดงานนัดปิดที่ทำการทั่วประเทศ ซึ่งเดิมกำหนดจะให้มีขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม ข่าน เป็นผู้ที่เรียกร้องอย่างแรงกล้ามาโดยตลอดให้กองทัพถอนทหารออกจากเขตพื้นที่ชนเผ่าพื้นถิ่น รวมทั้งต้องการให้ปากีสถานถอยห่างออกจาก “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ของสหรัฐฯด้วย

กระนั้นก็ตามที พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของปากีสถานยังคงยึดมั่นอยู่กับทัศนะเกี่ยวกับการก่อการร้ายซึ่งเต็มไปด้วยความกำกวมไม่ชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขามองภาพสถานการณ์ออกมาจากบริบทของอัฟกานิสถาน ตลอดจนจากบริบทของการรักษาอิทธิพลของปากีสถานในอัฟกานิสถานเอาไว้ในเวลาที่กองทหารหน่วยสู้รบของสหรัฐฯถอนออกไปจากประเทศเพื่อนบ้านของปากีสถานแห่งนี้แล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมการประมวลข่าวกรองของปากีสถาน (Inter-Services Intelligence agency ใช้อักษรย่อว่า ISI) มีความพยายามมาโดยตลอดที่จะใช้ประโยชน์จากสายสัมพันธ์ซึ่งพวกเขามีอยู่กับกลุ่มชนเผ่าหัวรุนแรงกลุ่มๆ ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ตรงแนวชายแดนระหว่างปากีสถานกับอัฟกานิสถาน

เอาเข้าจริงแล้ว กระทั่งทัศนะของสาธารณชนปากีสถานที่มีต่อกิจกรรมการก่อการร้าย ก็ไม่ค่อยชัดเจนเท่าใด ซาเมียร์ ปาติล (Sameer Patil) อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของอินเดีย ซึ่งเวลานี้ทำงานอยู่กับกลุ่มวิจัย “เกตเวย์เฮาส์” (Gateway House) ที่ตั้งสำนักงานอยู่ในเมืองมุมไบ (บอมเบย์) โดยมุ่งโฟกัสไปที่เรื่องการก่อการร้าย กล่าวเตือนว่า ในปากีสถานนั้น “ส่วนประกอบ ที่เป็นความรู้สึกต่อต้านอเมริกัน จะยังคงดำรงอยู่และช่วยสร้างความยุ่งยากสับสนให้แก่ปฏิกิริยาของสาธารณชน” ในเรื่องเกี่ยวกับการก่อการร้าย

ปาติล บอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (http://www.bloomberg.com/news/2014-12-16/why-132-dead-students-might-not-change-pakistan-terrorism-policy.html) ว่า “แม้กระทั่งเมื่อเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ภายในปากีสถานเอง) มันก็ยังเป็นสิ่งที่ถูก (สาธารณชนปากีสถาน) มองผ่านจากแง่มุมของสงครามซึ่งสหรัฐฯปราบปราบพวกตอลิบานและอัลกออิดะห์ในอัฟกานิสถานอยู่นั่นเอง” อย่างไรก็ดี ในรายงานข่าวของบลูมเบิร์กชิ้นเดียวกันนี้ ได้อ้างความเห็นของ ตอลัต มาซูด (Talat Masood) นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมในกรุงอิสลามาบัด ที่เป็นนายทหารเกษียณอายุระดับพลโท เขากล่าวว่า เมื่อได้เห็นภาพของเด็กนักเรียนเสียชีวิต ถูกเผยแพร่ออกมาภาพแล้วภาพเล่า ใบหน้าอันบริสุทธิ์ของพวกเขาต่างเปื้อนเปรอะไปด้วยเลือดเช่นนี้ สาธารณชนชาวปากีสถานก็น่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนทัศนะความเห็นเกี่ยวกับการก่อการร้ายแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น