เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ประกาศในวันจันทร์ (15 ธ.ค.) ภายหลังพรรครัฐบาลได้ชัยชนะขาดลอยในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ (14) ที่ผ่านมา ว่าจะยึดมั่นนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” นอกจากนี้ยังเตรียมดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ก่อนสิ้นปี และขอให้ผู้นำธุรกิจขึ้นค่าแรง พร้อมกันนั้นก็ให้คำมั่นจะวางแผนโน้มน้าวผู้มีสิทธิออกเสียงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใฝ่สันติ และปลูกฝังความคิดชาตินิยมในหมู่เยาวชน ทั้งนี้โดยที่เขาทำท่าไม่สนใจกับเปอร์เซ็นต์ผู้ออกมาโหวตซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
“เราได้ยินเสียงของประชาชนที่บอกให้เราเดินหน้าอาเบะโนมิกส์” อาเบะ กล่าวในการแถลงข่าววันจันทร์ (15) และบอกว่าจะจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปีนี้ รวมทั้งขอให้พวกผู้นำภาคธุรกิจทั้งหลายปรับขึ้นค่าแรง เพื่อให้สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภคที่ขยับขึ้น
การแถลงข่าวคราวนี้มีขึ้นหลังจากพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) ของอาเบะ และพรรคโคเมอิโตะ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล คว้าชัยชนะงดงามในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนกำหนดเมื่อวันอาทิตย์ โดยได้ที่นั่งรวมกัน 326 ที่นั่ง จากทั้งหมด 475 ที่นั่ง ซึ่งเท่ากับว่า สามารถรักษาเสียง 2 ใน 3 อันถือว่าเป็น “เสียงข้างมากเด็ดขาด” ที่สามารถผลักดันมติใดๆ ให้ผ่านสภาอย่างไม่เกิดการติดขัด เอาไว้ได้
อย่างไรก็ดี ที่นั่งของแอลดีพีลดจาก 295 ที่นั่ง มาอยู่ที่ 291 ที่นั่ง โดยที่ประชาชนจำนวนมากทีเดียว มีความไม่มั่นใจว่า นโยบายอาเบะโนมิกส์จะแก้ไขภาวะเงินฝืดและฟื้นเศรษฐกิจได้จริง ทว่าขณะเดียวกันก็ไม่คิดว่า ฝ่ายค้านจะมีผลงานดีกว่า และดังนั้นจึงเลือกที่จะนอนหลับทับสิทธิ
ผลลัพธ์คือ จำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิคราวนี้อยู่ในระดับ 53.3% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และน้อยกว่าระดับ 59.3% ในการเลือกตั้งปี 2012 ซึ่งทำให้อาเบะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในญี่ปุ่น
สัญญาณซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อาณัติที่อาเบะได้รับจากประชาชนในคราวนี้มีความบอบบางเพียงใด ได้แก่ข้อมูลซึ่งเผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์โตเกียวชิมบุง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อดูเฉพาะส่วนที่เป็นการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตๆ ละ 1 คน ซึ่งเป็นการเลือกสมาชิกสภาล่างรวม 295 ที่นั่งนั้น ถึงแม้พรรคแอลดีพีชนะได้ที่นั่งเหล่านี้มา 75% ทว่าได้คะแนนโหวตคิดเป็นเพียง 48% ของคะแนนเสียงเท่านั้น
ระหว่างแถลงข่าวในวันจันทร์ อาเบะไม่ได้แสดงท่าทีว่าใส่ใจกับเรื่องนี้ และยังคงมุ่งอธิบายการเดินหน้า “อาเบะโนมิกส์ ต่อไป โดยเขาแจงว่า จะเริ่มลงมือปฏิรูปเชิงโครงสร้างในส่วนที่อ่อนไหว เป็นต้นว่า ภาคเกษตรกรรมที่มีการปกป้องอย่างมาก แม้เขาหลีกเลี่ยงไม่ได้กล่าวถึงการผ่อนคลายกฎในตลาดแรงงาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่า เป็นกุญแจสำคัญมากยิ่งกว่าเสียอีก
ทั้งนี้ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ถือเป็นธนูดอกที่ 3 และดอกสุดท้ายของอาเบะโนมิกส์ นอกเหนือจากการผ่อนคลายทางการเงินอย่างสุดขีดและการกระตุ้นทางการคลัง ซึ่งดำเนินการไปแล้วและได้ผลดีในระดับหนึ่ง จนกระทั่งอาเบะเริ่มขยับขึ้นภาษีการขายระลอกแรกในเดือนเมษายน แล้วกลับนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในขณะนี้ จนทำให้อาเบะต้องประกาศชะลอขึ้นภาษีการขายรอบ 2 ออกไปอีกสามปี รวมทั้งประกาศจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนดถึงสองปีในคราวนี้
ในวันจันทร์ (15) ธนาคารกลางของญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้เผยแพร่รายงานที่ถือว่าเป็นข้อมูลประจำไตรมาส ซึ่งชี้ทิศทางของเศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยได้อย่างน่าเชื่อถือที่สุด นั่นคือ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ (ตังกัง) โดยดัชนีตังกังล่าสุดประจำไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ปรากฏว่า พวกผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่มีความเชื่อมั่นอยู่ที่ +12 ลดลงจากระดับ +13 ในการสำรวจเมื่อเดือนกันยายน ขณะที่ ความเชื่อมั่นของพวกบริษัทนอกภาคการอุตสาหกรรมผลิตที่มีขนาดใหญ่ กลับขยับดีขึ้นจาก +13 มาอยู่ที่ +16
มาร์เซล เธียเลียนต์ นักเศรษฐศาสตร์จากแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ตีความว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสปัจจุบันจะมีเสถียรภาพดีขึ้น แต่ไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจแล้ว ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดยังนำอาเบะเข้าใกล้การฟื้นแผนปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เป็นรัฐธรรมนูญใฝ่สันติซึ่งห้ามญี่ปุ่นดำเนินการทางทหารอย่างก้าวร้าว ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ยังถือว่ามีความอ่อนไหวซึ่งจะสร้างความขัดแย้งภายในแดนอาทิตย์อุทัยเอง และทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกับจีนและเกาหลี เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้น
อาเบะเคยมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก่อนหน้านี้ แต่แล้วก็ต้องยอมวางมือเมื่อตอนต้นปี 2014 หลังจากถูกประชาชนต่อต้าน โดยที่การแก้ไขจะผ่านไปได้นั้นนอกจากต้องการเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ในสภาแล้ว ยังจะต้องได้เสียงข้างมากจากประชาชนในการทำประชามติด้วย
ในการตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ ของเขาในช่วงเวลา 4 ปีข้างหน้า อาเบะตอบว่าจะเดินหน้าปลูกฝังลัทธิชาตินิยมในหมู่เยาวชน และแก้ไขบันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามของญี่ปุ่น
ทั้งนี้ นักการเมืองที่มีแนวทางอนุรักษนิยม-ชาตินิยมอย่างอาเบะนั้น มีความเห็นว่า บันทึกและตำราเรียนประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน มีการกล่าวโทษญี่ปุ่นมากเกินไปว่าเป็นผู้ดำเนินนโยบายก้าวร้าวรุกรานในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
มาซารุ โคโนะ ศาสตราจารย์การเมืองจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ในโตเกียว เตือนว่า ความเคลื่อนไหวเพื่อมุ่งแก้ไขเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นมากมายไม่เห็นด้วย ดังนั้นอาเบะจะต้องยึดมั่นกับแนวทางซึ่งหวังผลทางปฏิบัติมากกว่ายึดมั่นกับอุดมการณ์ความคิดทางการเมือง
เขายังทิ้งท้ายว่า ผลการเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่า ประชาชนยินดีต้อนรับการเมืองแนวอนุรักษนิยมอีกสมัย แต่รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญ เช่น ปัญหาจำนวนประชากรที่ลดลงเรื่อยๆ และการส่งเสริมตบทบาทและความก้าวหน้าของผู้หญิง ด้วยการใช้นโยบายในแนวทางเสรีนิยม