xs
xsm
sm
md
lg

Focus : จับพิรุธ “หน่วยงานไทย” ในรายงานสรุปวุฒิสภาสหรัฐฯ แฉคุกลับ CIA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เรื่องที่น่าสนใจประจำสัปดาห์และมีไทยถูกลากเกี่ยวไปด้วยคงหนีไม่พ้นเรื่องร้อนรายงานสรุปจากคณะกรรมาธิการความมั่นคงและข่าวกรองสหรัฐฯ ที่สะเทือนไปทั่วโลก และแน่นอนที่สุดถึงแม้ในรายงานร่วม 528 หน้า จากทั้งหมด 6,000 หน้า จะไม่มีการเปิดเผยชื่อสถานที่ “Dark Site” หรือคุกลับ CIA ในต่างแดน แต่สื่อทั่วโลก เช่น วอชิงตันโพสต์ ต่างรายงานถึงไทยในฐานะมีสิ่งที่เรียกว่า “Site Green” ที่ล่าสุดรัฐบาลไทยออกมาปฎิเสธอย่างเป็นทางการ ซึ่งบลูมเบิร์กบิสิเนสวีกรายงานว่า การเปิดเผยถึง “คุกลับ CIA” สร้างความสั่นสะเทือนให้กับการเมืองในประเทศต่าวๆ ที่อ้างถึง ไทยเป็นที่แรก และจึงสมควรที่เราในฐานะเจ้าของประเทศ และอาจเป็นเจ้าของสถานที่ “Site Green”นั้นควรรับทราบว่า ในรายงานหนากว่า 500 หน้านั้นมีอะไรซ่อนอยู่บ้าง และถือเป็นคำถามที่น่าสนใจที่ ศักดิ์สิทธิ์ ไสยสมบัติ จาก Asia Correspondent สื่อออนไลน์ ได้ตั้งคำถามว่า ประเทศไทยรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับคุกลับนี้

บลูมเบิร์กบิซิเนสวีกตีพิพม์วันที่ 11 ธันวาคม รายงานผลกระทบในวงกว้างในแวดวงการเมืองต่างประเทศหลังจากรายงานตีแผ่โครงการสอบปากคำลับของ CIA ที่เกิดขึ้นในสมัยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู. บูช ให้รับทราบกันทั่วโลก ซึ่งบลูมเบิร์กได้พาดพิงไทยเป็นประเทศแรกว่า ไทยในฐานะเป็น “พันธมิตรอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ” ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรที่บลูมเบิร์กให้คำนิยามว่า เป็นนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ใส่ใจกับ “นิติรัฐ” หรือ Rule of Law” น้อยมาก และเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยทำสงครามกับยาเสพติด หรือ “War on drugs” ซึ่งไปละม้ายคล้ายกับคำประกาศของบูชผู้ลูกหลัง 11 กันยา ที่ประกาศทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย “War on terror” ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศต่างถูกประนามในนโยายของตน บลูมเบิร์กชี้ว่า ผลจากนโยบาย “War on drugs” เป็นผลทำให้มีคนถึง 2,500 รายต้องเสียชีวิต ซึ่งตัวทักษิณเองได้เคยยอมกับสื่อ แดร์ ชปีเกิล นิตยสารข่าวเยอรมันในขณะยังดำรงตำแหน่งว่า เป็นความผิดของนโยบายจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และอีกครั้งเมื่อมาถึง “War on terror” ของอดีตประธานาธิบดีบูชในขณะนั้น มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของไทยร่วมกับ CIA สหรัฐฯ ได้นำตัวผู้ต้องสงสัยแกนนำระดับสูงตามนโยบาย “War on terror” รวมไปถึง อาบู ซูไบดา (Abu Zubydah) แกนนำคนสำคัญของกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์มายังเซฟฮาส์ คุกลับในไทย

และแต่ถึงแม้จะมีรายงานออกมาว่า ในเบื้องต้นทักษิณไม่ทราบเรื่อง “คุกลับ รหัส Site Green” จนกระทั่งสถานที่แห่งนี้ได้เริ่มสร้างและเปิดใช้ไปแล้ว แต่บลูมเบิร์กชี้ว่า ในภายหลัง ผู้นำไทยในขณะนั้นได้รับทราบการมีอยูถึงคุกลับ CIA ซึ่งเป็นสถานที่กักขังซูไบดาผู้ต้องสงสัยอัลกออิดะห์รายแรกของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ ที่ถูกใช้วิธีสอบปากคำแบบพิเศษที่เรียกว่า “enhanced interrogation techniques” ซึ่งนับจนถึงวินาทีนี้ CIA ยังยืนยันว่า สามารถช่วยให้สหรัฐฯ ได้ข้อมูล และปกป้องชีวิตพลเมืองอเมริกัน จากการเปิดปากของนายใหญ่สำนักงาน จอห์น เบรนแนน ซึ่งซูไบดาถูกกระบวนการทรมานด้วยวิธีต่างๆ ในไทย เหมือนดังเป็นข่าวครึกโครม ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เสมือนจมนำ้ หรือขังในกล่องขนาดเท่าร่างกาย

บลูมเบิร์กบิซิเนสวีกยังกล่าวต่อไปถึงทักษิณว่า หลังจากที่เขาถูกโค่นจากอำนาจในปี 2006 และน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถชนะการเลือกตั้งและกลับขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งก่อนที่จะโดนยึดอำนาจไปเช่นกันในปีนี้ ไทยที่ยังอยู่ภายใต้กฏอัยการศึก และมีผู้นำรักษาการมาจากผู้นำกองทัพที่ทำรัฐประหาร สื่อไทยที่ยังหวั่นเกรงในการนำเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชั่วคราว แต่ดูเหมือนว่าสื่อไทยนำเสนอข่าวรายงานวุฒิสภาสหรัฐฯ อย่างกว้างขวาง

โดยบลูมเบิร์กชี้ว่า จากแหล่งข้อมูลจากสื่อไทยหลายสำนัก ดูเหมือนว่ารัฐบาลทหารไทยพยายามจะให้ข่าวเปิดเผยคุกลับพุ่งเป้าไปที่ทักษิณคนเดียวเท่านั้น และในขณะเดียวกันต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนไทยให้ลืมเลือนการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐบาลทหารกระทำอยู่

บลูมเบิร์กชี้ว่า ถึงทางรัฐบาลไทยจะพยายามปัดข้อหาให้พ้นตัว แต่ทว่าในทัศนะของบลูมเบิร์กนั้น นายพลทั้งหลายที่กุมอำนาจปกครองของไทยอยู่ในขณะนี้ขอให้พึงระวังในการชี้นิ้ว เพราะเป็นที่แน่ชัดว่ากองทัพไทยเป็นสนิทเนื้อเดียวกับสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ และผู้ที่กุมอำนาจในฐานะฝ่ายบริหารในขณะนี้ ล้วนแล้วแต่ดำรงตำแหน่งระดับสูงในกองทัพไทยในขณะนั้น ซึ่งคำเตือนของบลูมเบิร์กตรงกับความเห็นของ ศักดิ์สิทธิ์ ไสยสมบัติ จาก Asia Correspondent สื่อออนไลน์ ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในอังกฤษ ได้ตั้งคำถามผ่านงานเขียนหัวข้อ “What does Thailand really know about the CIA’s ‘black site’ prisons?” ในวันศุกร์ (12) ว่า ประเทศไทยรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับคุกลับนี้ หรือที่เจาะจงลงไปคือ มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยคนไหนบ้างที่ทราบ หรือเกี่ยวข้องในเรื่องนี้

โดยศักดิ์สิทธิ์ นักข่าวอิสระและบล็อกเกอร์ร่วมกับสยามวอยส์ ได้เปิดประเด็นด้วยแถลงการณ์ปฏิเสธของรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการถึงความเกี่ยวข้อง การรับรู้ และการไม่มีอยู่ของ“Site Green” แต่กระนั้นศักดิ์สิทธิ์ชี้ว่า จากข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ผ่านหน้าระดาษกว่าห้าร้อยหน้า มีบางสิ่งบ่งบอกว่า “ไทยอาจรู้มากกว่าสิ่งที่ได้ยอมรับออกไป”

จากสื่อเดอะเนชั่น หนังสือพิมพ์ไทยภาคภาษาอังกฤษตีพิพม์เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม รัฐบาลไทยได้ปฎิเสธการมีอยู่ของคุกลับ CIA ว่า “ไม่เคยมีคุกลับตั้งอยู่ที่นี่ และไม่มีรายงานการทรมานในไทย รวมไปถึงไม่มีหน่วยงานใดของไทยที่จะใช้วิธีนี้” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ กล่าว และเสริมว่า “ ไม่เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในการนำตัวนักโทษประเภทนี้ ทางเราไม่เคยร่มปฎิบัติการผิดกฎหมายกับสหรัฐฯ”

ทั้งนี้ สุวพันธุ์ อดีตหัวหน้าสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่เคยเห็นข้อความใดที่เอ่ยถึงไทยในรายงานคณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐฯ “เหตุการณ์ที่ถูกเอ่ยถึงในรายงานฉบับนั้นมันเกิดขึ้นนานหลายปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผมรัประกันกับพวกคุณได้เลยว่าไม่มีคุกลับทรมานนักโทษในไทย” สุวพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ ในรายงานของเดอะเนชั่น รัฐมนตรีมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ยืนยันคำกล่าวของสุวพันธุ์ถึงการไม่มีคุกลับตั้งอยู่ในไทย “กองทัพไทยไม่เคยทราบถึงการตั้งอยู่ของคุกลับในไทยในขณะที่ผมดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำในกองทัพ ซึ่งในขณะนั้นผมมยืนยันได้ว่า ไม่มีคุกลับในไทยอย่างแน่นอน” และสอดคล้องกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าเขาไม่มีข้อมูลถึงคุกลับในไทยที่ใช้กักขังและทรมานผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย

และทำให้ศักดิ์สิทธิ์ชี้ถึง ข้อผิดพลาดจากแถลงการณ์ของอดีตหัวหน้าสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ที่อ้างว่า “ไม่มีการอ้างอิงถึงไทยในรายงานวุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งนักข่าวอิสระไทยอธิยบายผ่าน Asia Correspondent ว่า แท้จริงแล้ว มีการระบุถึงไทยในรายงานชิ้นนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่หน้า 301 ในส่วนการจับกุม ฮัมบาลี ผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายเจไอ ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ชาวอินโดนีเซีย และเป็นผู้ต้องสงสัยวางแผนก่อเหตุโจมตีเกาะบาหลีในปี 2002 ถูกจับกุมได้ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจากการชี้ตัวของสายแหล่งข่าว CIA และหน่วยงานไทย ที่ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีการเปิดเผยว่าการจับกุมครั้งนั้น “เกิดขึ้นเพราะโชคช่วยกว่า 70%” ก็ตาม

นอกจากนี้ศักดิ์สิทธิ์ยังชี้ว่า ในช่วงต้นยุค 2000 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ มีข่าวลือถึงคุกลับในไทย ซึ่งหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ สื่อสหรัฐฯ เป็นเจ้าแรกที่รายงานเรื่องนี้ในวันที่ 2 ธันวาคม 2005 ว่า “ก่อนกลางปี 2002 CIA มีข้อตกลงลับตั้งคุกลับกับ 2 ชาติ ที่หนึ่งในนั้นคือ “ไทย” และอีกชาติอยู่ในยุโรปตะวันออก แหล่งข่าวความมั่นคงที่ยังอยู่ในตำแหน่งและเกษียณแล้วให้ข้อมูล และเปิดเผยต่อว่า เม็ดเงินร่วม 100 ล้านดอลลาร์ถูกใช้เป็นเงินก้อนแรกสนับสนุนคุกลับในอัฟกานิสถาน และภายหลัง CIA สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยกลุ่มติดอาวุธตัวสำคัญได้รายแรกในวันที่ 28 มีนาคม 2002 กองกำลังปากีสถานนำตัว อาบู ซูไบดา ผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการของอัลกออิดะห์ ไปกักขัง หลังจากนั้น ซูไบดาถูก CIA นำตัวไปขังต่อยังคุกลับแห่งใหม่ใน “ไทย” ซึ่งรวมไปถึงห้องสอบปากคำแบบพิเศษ อ้างจากแหล่งข่าวทั้งประจำการและเกษียณอายุ และนอกจากนี้ในอีก 6 เดือนต่อจากนั้น รอมซี บิน อัล-ชิบห์ (Ramzi bin al-Shibh) ที่เชื่อกันว่า เป็นผู้วางแผนการโจมตีสหรัฐฯในวินาศกรรม 11 กันยา ถูกนำตัวบินเข้าไทย และส่งไปยังคุกลับแห่งนี้เช่นกัน”

และศักดิ์สิทธิ์ยังชี้เพิ่มเติมว่า แม้ในรายงานจะกล่าวถึงไทยน้อยมาก แต่ทว่ามีข้อความระบุถึง “คุกลับรหัส Site Green” ที่มีความเชื่อในวงกว้างว่า เป็นการเอ่ยถึง “คุกลับในไทย” ซึ่งมีข่าวหลายกระแสวิเคราะห์ว่า สถานที่ตั้งคุกลับแห่งนี้น่าจะเป็นระหว่าง จ.อุดรธานี และภายในฐานทัพเรือสัตหีบ หรือแม้กระทั่งท่าอากาศยานดอนเมือง

นอกจากนี้ ศักดิ์สิทธิ์ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงว่า จากหน้า 30 ของรายงานวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้เอ่ยถึงการนำตัวซูไบดาไปยังคุกลับแห่งนี้ในวันที่ 18 มิถุนายน 2002 และขังเดี่ยวเขาเป็นเวลา 47 วันก่อนเริ่มสอบปากคำแบบทรมานพิเศษในวันที่ 4 สิงหาคม 2002 เพื่อหวังจะล้วงความลับสำคัญของอัลกออิดะห์

แม้รายงานฉบับวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่เต็มไปด้วยการปกปิดข้อมูลสำคัญมากมาย แต่ในตัวรายงานยังระบุว่า “อย่างน้อยมีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งล่วงรู้ถึงการถูกกักขังของซูไบดาในคุกลับที่ไทย” ซึ่งขัดแย้งกับการออกแถลงการณ์ปฎิเสธในสัปดาห์ที่ผ่านมาของผู้มีอำนาจในไทยอย่างสิ้นเชิง และศักดิ์สิทธิ์ได้อ้างอิงถึงข้อความในรายงานหน้า 24 บอกเล่าถึงการปิด “คุกลับรหัส Site Green” ภายใต้หัวข้อ “Tensions with Host Country Leadership and Media Attention Foreshadow Future Challenges” ที่เกี่ยวกับอาบู ซูไบดา ว่า “ในเดือนเมษายน 2002 เจ้าหน้าที่ CIA ประจำประเทศ X พยายามจัดทำลิสต์รายชื่อเจ้าหน้าที่ประเทศท้องถิ่นที่จำเป็นต้องรู้การถูกกักขังของอาบู ซูไบดา ในเมืองที่ระบุ ประเทศ X ทั้งนี้รายชื่อนี้รวมไปถึงเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 8 คน อ้างอิงถึง “ Various” Personnel และรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของ Y ที่ไม่ต้องสงสัยว่าจะมีอีกมาก”

และในรายงานหน้า 24 นี้ยังระบุเพิ่มเติมว่า “ก่อนวันที่ X เมษายน 2002 สื่อได้เริ่มระแคะระคายว่า อาบู ซูไบดาถูกขังอยู่ในประเทศ X เป็นผลทำให้ CIA ต้องยับยั้งการนำเสนอข่าวของสื่อโดยอ้างถึงเหตุผลทางความมั่นคง และรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ CIA ประจำประเทศ X แสดงความกังวลว่า หากสื่อเปิดเผยเรื่องนี้จะไม่เป็นผลดีต่อการเจรจาของหน่วยงาน และความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี และคาดว่าจะทำให้ความหวังที่จะขอให้ The X ของประเทศ X ยังคงอนุญาตให้ซูไบดายังอยู่ต่อไปได้นั้นอาจริบหรี่ลง หรือโอกาสที่จะให้ ชายผู้นี้ อนุญาตให้ผู้ต้องสงสัยคนอื่นที่คล้ายกับซูไบดาเข้ามาในประเทศได้ในอนาคต” และในเดือนพฤศจิกายน 2002 หลังจาก CIA ทราบว่า สื่อสหรัฐฯส่วนใหญ่ล้วนรับรู้แล้วว่าซูไบดาถูกขังในประเทศ X เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ CIA รวมไปถึงอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดิก เชนี ได้ออกโรงขอไม่ให้สื่อสหรัฐฯตีพิมพ์ข่าวนี้ แต่ถึงแม้สื่อสหรัฐฯจะยอมทำตามคำขอ ไม่เปิดเผยชื่อประเทศที่ซูไบดาถูกกักขัง แต่ในที่สุดสหรัฐฯตัดสินใจปิดคุกลับรหัส Site Green”

ทั้งหมดนี้ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ตั้งคำถามว่า “เจ้าหน้าที่ซึ่งรู้เห็นการมีอยู่ของอาบู ซูไบดา นั้นเป็นใครบ้าง” ซึ่งนักข่าวอิสระผู้นี้ชี้ว่าต้องมีอย่างน้อย 8 คน (และเป็นไปได้ว่าอาจจะมากกว่านี้)ที่รับรู้ และในช่วงท้าย ศักดิ์สิทธิ์สรุปคล้ายกับบลูมเบิร์กบิสซิเนสวีกที่ว่า การออกมาปฏิเสธของฝ่ายรัฐบาลไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ต้องการรักษาหน้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องร้ายทางด้านกฎหมายทั้งในและต่างประเทศรวมถึงด้านการทูต แต่เป็นเพราะเมื่อมองย้อนกลับไปคนเหล่านั้นต่างมีอำนาจในฝ่ายความมั่นคงทั้งนั้น







กำลังโหลดความคิดเห็น