เอเอฟพี - พอล โรโซลี นักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกันต้องการโน้มน้าวให้คนหันมาสนใจประเด็นการทำลายป่าฝนแอมะซอน เขาจึงเกิดความคิดที่จะทำการแสดงโลดโผนขึ้นมาเพื่อสร้างกระแสให้ผู้คนจับจ้อง
ด้วยเหตุนี้ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผู้เด็ดเดี่ยวคนนี้จึงเสนอตัวยอมเป็นอาหารให้ “งูอานาคอนดา” และเตรียมพร้อมถูกกลืนกินทั้งเป็น ขณะที่ให้ทีมงานช่วยบันทึกภาพนาทีชีวิตเอาไว้
ทว่า ในท้ายที่สุดแล้ว เจ้างูยักษ์ก็ไม่ได้เขมือบโรโซลีจริงๆ จนสร้างความผิดหวังให้แก่ผู้ชมที่รอดูการผจญภัยในท้องอสรพิษตัวเขื่องของผืนป่าแอมะซอน
ทว่า เขาปล่อยให้เจ้าอนาคอนดารัดตัวเขาเอาไว้ ก่อนจะประกาศยกเลิกภารกิจ เนื่องจากเกรงว่าตนเองอาจบาดเจ็บสาหัส
โดยปกติแล้ว อนาคอนดา ซึ่งเป็นงูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมักจะบีบรัดจนเหยื่อหายใจไม่ออกก่อนจะเขมือบกลืนเหยื่อเข้าไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ภารกิจของโรโซลีอันตรายหนักขึ้นไปอีก
โรซาลียังคงมีชีวิตรอด และตอนนี้คนทั่วโลกก็มีโอกาสได้ชมเขาต่อสู้กับสัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์อย่างหัวหกก้นขวิด ภายหลังที่สารคดีชุดนี้ออกอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อคืนวานนี้ (7) ที่สหรัฐฯ ทางช่องดิสคัฟเวอรี
โรซาลีระบุกับเอเอฟพีว่า เขาเกิดความคิดบ้าระห่ำเช่นนี้ หลังจากอุทิศเวลา 1 ทศวรรษทำงานในแอมะซอน เพื่ออนุรักษ์ฝืนป่าแห่งนี้
นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันคนนี้บอกว่าภูมิใจที่ได้ผจญภัย แม้ว่าการทำใจดีสู้อานาคอนดานั้นจะเป็นเรื่องยากเย็นเข็ญใจก็ตาม
เพื่อป้องกันไม่ให้โรโซลีหายใจไม่ออก ผู้เชี่ยวชาญจึงออกแบบชุดคาร์บอนไฟเบอร์แบบพิเศษขึ้นมา โดยติดตั้งระบบช่วยหายใจ ตลอดจนกล้อง
จากนั้นพวกเขาก็ควานหางูอานาคอนดาจนพบ โดยแขกรับเชิญตัวนี้เป็นงูเพศเมียความยาว 6 เมตร ตรงตามสเปก
ในท้ายที่สุดแล้ว โรโซลีไม่ได้ถูกงูยักษ์เขมือบ แต่ต้องดิ้นรนอุตลุดให้ตนเองรอดพ้นจากการถูกบีบรัด ก่อนที่เขาจะยอมถอนตัวจากภารกิจ
ขณะที่เจ้าอานาคอนดากำลังพันรอบโรโซลีที่สวมชุดป้องกันเต็มตัว มันอ้าปาก เปิดขากรรไกรกว้างเหนือหมวกนิรภัยของเขา และชายบ้าระห่ำคนนี้บอกว่า อานาคอนดาบีบรัดแขนเขาแน่นมากจนเขากลัวว่าแขนจะหัก
ทีมเจ้าหน้าที่ของเขายืนสังเกตการณ์ด้วยความกังวล ขณะที่โรโซลีเริ่มหายใจติดขัด และชีพจรเต้นช้า
เขาบอกคนในทีมว่า รู้สึกวิงเวียนศีรษะขณะที่เจ้าสัตว์เลื้อยคลายขนาดมหึมาบีบรัดแขนของเขาแน่น เขาจึงร้องขอความช่วยเหลือ
เหล่าผู้ชมในสื่อสังคมออนไลน์พุ่งเป้าโจมตีรายการที่ออกอากาศในคืนวันอาทิตย์ (7) รายการนี้ว่า ตั้งชื่อชวนให้เข้าใจผิด
ผู้แสดงความคิดเห็นรายหนึ่งระบุว่า ต้องเปลี่ยนชื่อรายการจาก “ถูกเขมือบทั้งเป็น” (Eaten Alive) เป็น “ถูกเขมือบทั้งเป็น แต่เป็นเรื่องล้อเล่น”
โรโซลีเน้นย้ำว่า ทีมของเขาพยายามระมัดระวังจะไม่ให้งูบาดเจ็บ ในขณะที่กล่าวว่า เขาเป็นเพียงคนเดียวที่ตกอยู่ในอันตราย
อย่างไรก็ตาม โรโซลีเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรพิทักษ์สัตว์หลายแห่ง รวมทั้ง PETA ซึ่งกล่าวว่า “งูตัวนั้นต้องทุกข์ทรมานเพื่อเรียกเรทติ้ง” ให้รายการ
โรซาลีเล่าว่า เขาได้รับจดหมายขู่ฆ่า
อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้กังวลถึงเรื่องนั้น โดยเขาชี้ว่า การสร้างความตื่นตระหนกตกใจเป็นวิธีสำคัญที่ช่วยดึงให้ผู้คนหันมาสนใจประเด็นของเขามากขึ้น แม้ว่า เขาจะไม่ได้ถูกงูเขมือบทั้งเป็นจริงๆ ก็ตาม
ทั้งนี้ พอลได้ใช้รายการนี้ประชาสัมพันธ์กองทุนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และระดมเงินบริจาคเพื่ออนุรักษ์แอมะซอน และเพื่อใช้เป็นทุนสนับสนุนการวิจัยงูอานาคอนดาในผืนป่าแห่งนี้