เอเจนซีส์ /เอเอฟพี /ASTVผู้จัดการออนไลน์- หน่วยงาน Transparency International ที่มีฐานอยู่ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมัน ออกรายงานการจัดลำดับดัชนีวัดภาพลักษณ์คอรัปชัน (CPI)ประจำปี 2014เมื่อวานนี้(3) โดยพบว่า เกาหลีเหนือภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีคิม จองอึน ติดลำดับ 1ของตารางจัดลำดับคอรัปชันร่วมกับโซมาเลียในลำดับที่ 174 จากทั้งหมด 175 ประเทศ ที่ได้คะแนนความโปร่งใสเพียง 8 คะแนนจากเต็ม 100 คะแนน ในขณะที่ไทย ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการ มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) ชี้ว่า ไทยมีลำดับภาพลักษณ์โปร่งใสดีขึ้นในปีนี้อยู่ในลำดับ 85 ได้คะแนนความโปร่งใส 38 ขึ้นชั้นจากปีที่ผ่านมาที่อยู่ในอันดับที่ 102 และได้คะแนนเพียง 35 คะแนน ส่วนประเทศที่มีภาพลักษณ์ความโปร่งใสมากที่สุดในโลกคือเดนมาร์กอยู่ในลำดับ 1ที่หน่วยงานภาครัฐได้คะแนนความซื่อสัตย์ไปถึง 92 คะแนน สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในเอเชียติด 10 อันดับแรกของความโปร่งใสมากที่สุดในโลก
เดลีเมล และเอเอฟพีรายงานในวันพุธ(3) ถึงรายงานของหน่วยงาน Transparency International ที่ได้ออกตารางจัดลำดับดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชัน(CPI)ประจำปี 2014 พบว่าเกาหลีเหนือเป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์การคอรัปชันที่เลวร้ายที่สุดในโลกร่วมกับโซมาเลียจากทั้งหมด 175 ประเทศ ได้คะแนนเพียงแค่ 8 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 อยู่ในลำดับที่ 174โดยสื่ออังกฤษชี้ว่า หน่วยงานภาครัฐเกาหลีเหนือมีปัญหาเรื่องสินบนใต้โต๊ะ ยาปลอม และการต้องจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาประตูหลัง
แต่ในขณะเดียวกันเดนมาร์กมีภาพลักษณ์ที่โปร่งใสมากที่สุดในโลกประจำปี 2014 อยู่ในลำดับที่ 1 มีคะแนนความโปร่งใส 92 คะแนน ตามด้วยนิวซีแลนด์ที่อยู่ในลำดับ 2มีคะแนนความโปร่งใส 91 คะแนนตามลำดับ
ส่วนสหรัฐฯ ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นตำรวจโลกถูกจัดอันดับความโปร่งใสอยู่ในลำดับที่ 17 ได้คะแนนความซื่อสัตย์ 74 คะแนน ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านทางตอนเหนืออย่างแคนาดาที่ในปีนี้อยู่ในลำดับที่ 10 และได้คะแนนความโปร่งใสถึง 81 คะแนน ด้านรัสเซียที่มีชื่อในด้านการไร้ความโปร่งใสถูกจัดอันดับที่ 136 และมีคะแนนความโปร่งใส 27 คะแนนเทียบเท่าไนจีเรียและเลบานอน ส่วนยูเครนอยู่ในลำดับต่ำกว่ารัสเซีย ถูกจัดในลำดับที่ 142 และได้คะแนนความโปร่งใส 26 คะแนน
ทั้งนี้ในส่วนของไทย ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการ มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) ชี้ผ่านแถลงการณ์ของมูลนิธิว่า ไทยมีลำดับภาพลักษณ์โปร่งใสขึ้นในปีนี้ โดยในปี 2014 อยู่ในลำดับ 85 ได้คะแนนความโปร่งใส 38 ขึ้นชั้นจากปีที่ผ่านมาที่อยู่ในอันดับที่ 102 และได้คะแนนเพียง 35 คะแนน ซึ่งไทยอยู่ในลำดับชั้นเทียบเท่ากับเอกวาดอร์ มอลโดวา และปานามา และอยู่อันดับที่ 16 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
และนอกจากนี้ ดร.จุรี ยังแถลงเพิ่มเติมว่า ผลคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปีนี้ปรากฏว่า ร้อยละ 70 ของจำนวนประเทศที่นำมาจัดอันดับสอบตก หรือมีคะแนนต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง มีเพียง 54 ประเทศเท่านั้นที่สอบผ่าน หรือได้คะแนนเกิน 50 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยเดนมาร์กและนิวซีแลนด์สามารถครองแชมป์อันดับหนึ่ง (91 คะแนนจาก 100 คะแนน) ส่วนอันดับสุดท้ายที่ได้คะแนนต่ำที่สุด ได้แก่ เกาหลีเหนือ และโซมาเลีย (8 คะแนนจาก 100 คะแนน) และซีเรียเป็นประเทศที่มีคะแนนลดลงจากปีที่แล้วอย่างมาก
ส่วนในกลุ่มประเทศอาเซียน มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ได้คะแนนเกินครึ่ง ได้แก่ สิงคโปร์ (86 คะแนน) บรูไน (60 คะแนน) และมาเลเซีย (50 คะแนน) ส่วนประเทศอื่นๆรวมทั้งไทยยังคงมีคะแนนต่ำกว่าครึ่ง และดร. จุรียังให้เป็นข้อสังเกตว่า ลาว(อันดับที่ 145 ได้ 25 คะแนน) และพม่า(อันดับที่156 ได้ 21 คะแนน) แม้จะมีคะแนนค่อนข้างต่ำ แต่ก็ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งจะเห็นได้ว่า สิงคโปร์เป็นประเทศจากเอเชียเพียงประเทศเดียวที่สามารถเบียดแทรกประเทศในกลุ่มยุโรปเหนือขึ้นติด 1 ใน 10ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีภาพลักษณ์การคอรัปชันน้อยที่สุดในโลก ซึ่งเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่อาจกล่าวได้ว่า จากคนทั่วไปมีภาพลักษณ์ที่ซื่อสัตย์ แต่จากดัชนีจัดลำดับในปี 2014 ญี่ปุ่นกลับรั้งอยู่ในลำดับที่ 15 ได้คะแนนความโปร่งใส 76 คะแนนร่วมกับเบลเยียม
นอกจากนี้แถลงการณ์ของมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยยังแถลงเพิ่มเติมว่า ดร.จุรี ชี้ว่า การจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันเป็นวิธีการที่ใช้กระตุ้นความสนใจ ของผู้คนทั่วโลกต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่มีการทำกันทุกปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลคะแนนปีนี้ไทยมีคะแนนดีขึ้นเล็กน้อย จาก 35 คะแนนในปีที่แล้วมาเป็น 38 คะแนน และขยับอันดับขึ้นมาจากอันดับที่ 102 เป็นอันดับที่ 85 ซึ่งการที่อันดับของไทยเลื่อนขึ้นเป็นเพราะหลายประเทศที่เคยมีคะแนนเท่ากันหรือมากกว่าในปีที่แล้ว ได้คะแนนเท่าเดิมหรือบางประเทศกลับได้คะแนนลดลงหรือเพิ่มขึ้น แต่ยังน้อยกว่า ซึ่งอาจหมายถึงในช่วงปีที่ผ่านมา หลาย ภาคส่วนได้พยายามมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และเห็นผลของการแก้ปัญหาบางด้าน เช่น การปลูกฝังความดีให้เด็ก ๆ ในการเรียนการสอนหลักสูตร“โตไปไม่โกง” และการดำเนิน “โรงเรียนคุณธรรม” รวมถึง การตื่นตัวของภาคธุรกิจในการต่อต้านการทุจริต อีกทั้งคนไทยจำนวนมากได้แสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อการทุจริตคอร์รัปชัน และแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน การที่คนในสังคมตื่นตัวต่อปัญหาร่วมกันเช่นนี้เป็นสัญญาณที่ดี ว่าไทยได้นำพลังร่วมของคนในสังคมมาผลักดันการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้เป็นวาระแห่งชาติที่แท้จริง ทั้งนี้ รวมถึง การไม่ยอมรับการโกงทุกรูปแบบและไม่ให้คนโกงมีที่ยืนในสังคม และมีการกลั่นกรองและตรวจสอบผู้บริหารประเทศให้ทำงานด้วยความรับผิดชอบและโปร่งใส นึกถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง
เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า จากรายงาน CPI ประจำ 2014 ชี้ว่า ซูดาน เกาหลีเหนือ และโซมาเลีย ยังคงเป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์คอรัปชันมากที่สุด ในขณะที่เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ และฟินแลนด์อยู่ในประเทศที่มีระบบราชการที่โปร่งใส
นอกจากนี้ จากรายงานยังชี้ถึงปัญหาคอรัปชันในตุรกีที่ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 64 ประจำปี 2014 และได้คะแนน 45 คะแนน โดยดิอินดีเพนเดนท์ สื่ออังกฤษรายงานว่า ที่ผ่านมาตุรกีได้ชื่อว่า ใช้เหตุผลคอรัปชันในการทำลายคู่แข่งทางการเมือง รวมถึงการปลดตำรวจและอัยการออกจากตำแหน่ง และตอบโต้อย่างรุนแรงกับกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านการคอรัปชัน
ส่วนกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ BRICS ล้วนมีปัญหาความโปร่งใสทั้งสิ้น เช่น รัสเซีย บราซิล(อันดับที่ 69 ได้คะแนน 43 คะแนน) อินเดีย(อันดับ 85 ได้คะแนน 38 คะแนน)โดยพบว่าในปี 2014ถือเป็นปีแรกในรอย 18 ปีที่มีลำดับความโปร่งใสสูงกว่าแดนมังกร และจีน(อันดับ 100 ได้คะแนน 36 คะแนน)
ซึ่ง Transparency International ใช้ภาพลักษณ์ของความโปร่งใสที่วัดจากหน่วยงานรัฐ ตำรวจ ระบบศาลยุติรรม รวมไปถึงพรรคการเมืองของแต่ละประเทศเพื่อประเมินเป็นดัชนีชี้วัดจัดลำดับแต่ละประเทศ ชี้ว่า การคอรัปชันเป็นขวากหนามการพัฒนาประเทศ และยังทำให้ปัญหาความยากจนหยั่งรากลึกลงมากขึ้น
และในปีนี้ทางหน่วยงานที่มีฐานในกรุงเบอร์ลินย้ำถึงความสำคัญของสถาบันการเงินข้ามชาติ และศูนย์กลางการเงินของโลกที่ช่วยให้บรรดานักการเมือง นักธุรกิจ หรือชนชั้นนำของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศสามารถหลบเลี่ยงภาษี หรือใช้เป็นที่ฟอกเงิน
โรบิน โฮเดส (Robin Hodess) ผู้อำนวยการด้านที่ปรึกษาและวิจัย Transparency Internationalให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี โดยชี้ถึง การที่ธนาคาร HSBC ต้องยอมจ่ายค่าปรับก้อนโตจากการที่ทางธนาคารยอมให้นักฟอกเงินในเม็กซิโก และBNP Paribasที่ทำการแทนซูดานและประเทศอื่นๆที่ติดแบล็กลิสต์ของสหรัฐฯใช้เป็นช่องทางการโยกย้ายเงินทุน
นอกจากนี้ Transparency International ที่รณรงค์โครงการ “เปิดโฉมหน้านักคอรัปชัน” (Unmask the Corrupt) ระบุว่า ทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศ G20 ควรดำเนินตามเดนมาร์กด้วยการสร้างฐานข้อมูลสาธารณะสำหรับบริษัทประกอบการในประเทศด้วยการเปิดเผยข้อมูลของบรรดาเจ้าของบริษัทเหล่านั้น “ฐานข้อมูลสาธารณะจะบอกกับสังคมให้รับทราบว่า บริษัทแต่ละแห่งมีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง และจะทำให้กระทำผิดผิดได้ยาก” Cobus de Swardt ผู้อำนวยการจัดการของ Transparency International กล่าว
และ Transparency International ยังเจาะจงชี้ไปที่จีน ซึ่งถึงแม้จะมีรายงานข่าวความเคลื่อนไหวลงโทษผู้กระทำผิดในการคอรัปชัน แต่ทว่า ทางหน่วยงานได้ยกตัวอย่างถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีเอกสารหลุดออกมาสู่สาธารณะเปิดเผยถึงจำนวนลูกค้าออฟชอร์ร่วม 22,000 ราย จากจีนและฮ่องกง และบรรดาผู้นำประเทศต่าง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐจากจีนจะโยกทรัพย์สินที่ได้มาจากการคอรัปชันไปยังประเทศที่ได้ขึ้นชื่อเป็นแหล่งซุกเงินระดับโลกผ่านบริษัทออฟชอร์ต่างๆ
โดยทาง Transparency International ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จีนต้องทำให้การติดสินบนนั้นผิดกฎหมาย รวมถึงต้องให้เข้าถึงข้อมูลเพิ่มมากกว่านี้ และรวมไปถึงต้องสร้างระบบคุ้มครองของผู้ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลคอรัปชันให้สังคมรับทราบ
แต่อย่างไรก็ตาม จีนกล่าวโต้การจัดลำดับของ Transparency International ว่าไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ทางรัฐบาลจีนประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาคอรัปชันในภาครัฐ