เอเอฟพี - แผนการของมณฑลแห่งหนึ่งของจีนที่จะติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ในห้องเรียนมหาวิทยาลัยกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มทนายความ ที่ระบุว่า มาตรการนี้จะปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ สื่อของทางการรายงานวันนี้ (3 ธ.ค.)
หนังสือพิมพ์โกลบัล ไทม์ส รายงานว่า มณฑลกุ้ยโจวทางภาคใต้ของจีนได้ประกาศว่า ทุกสถาบันอุดมศึกษาควรติดตั้งกล้องเพื่อ “เฝ้าสังเกตบรรดาอาจารย์”
ทนายความ 4 คนในมณฑลแห่งนี้เรียกร้องให้มีคำอธิบายเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว โดยหนึ่งในนี้ระบุว่า มาตรการนี้จะ “สกัดกั้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และทำให้ไม่เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในชั้นเรียน” รายงานระบุ
จีนได้แผ่ขยายระบบมหาวิทยาลัยของตนได้อย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้พร้อมกับเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตขึ้น
มหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการโดยพรรครัฐบาลคอมมิวนิสต์ซึ่งมีความเข้มงวดในการควบคุมการถกเถียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และหัวข้ออื่นๆ ที่เห็นว่าอาจเป็นภัยคุกคามต่อการกุมอำนาจของพวกเขา
ในอดีตทางการเคยติดตั้งกล้องวิดีโอในห้องเรียนของบรรดานักวิชาการฝีปากกล้า โดยหนึ่งในนั้นคือ อิลฮัม โตห์ตี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอุยกูร์ ที่ถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิตในเดือนกันยายนฐานมีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน
หลักฐานจากกล้องในห้องเรียนถูกใช้ในการยืนยันความผิดของนักวิชาการรายนี้ ผู้ต้องหาในคดีที่ถูกประณามจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ
หลี่ กุ้ยเจิง หนึ่งทีมทนายบอกกับหนังสือพิมพ์โกลบัล ไทม์ส ว่า “บรรดาอาจารย์จะกลัวถูกลงโทษหากพวกเขาพูดเรื่องอ่อนไหว คุณภาพของสถาบันจะตกต่ำ”
ทนายกลุ่มนี้กำลังเรียกร้องให้สำนักการศึกษาประจำมณฑล “อธิบายมาตรการนี้” และจะพิจารณาเรื่องดำเนินการทางกฎหมายหากทางสำนักงานไม่ตอบสนอง รายงานระบุ
จีนเข้มงวดกับการควบคุมนักวิชาการนับตั้งแต่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เข้ารับตำแหน่งสูงสุดของพรรคในปี 2012 โดยมีอาจารย์ฝีปากกล้าหลายคนถูกไล่ออกหรือไม่ก็ถูกตัดสินจำคุก
อัน เหอปิง ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยกุ้ยโจว บอกกับโกลบัล ไทม์สว่า “ไม่มีอะไรที่พวกอาจารย์ควรต้องกลัว หากพวกเขาพูดในสิ่งที่ถูกต้อง”