เอพี/เอเอฟพี - โศกนาฏกรรมเหมืองระเบิดในจีนสองครั้งในชั่วเวลาสองวันติดกัน คร่าเหยื่อเคราะห์ร้ายกว่า 37 คน และบาดเจ็บเกินครึ่งร้อย สะท้อนปัญหาชีวิตคนงานแขวนบนเส้นด้าย
สำนักข่าวซินหวาของทางการจีน รายงาน (27 พ.ย.) เหมืองแร่ซ่งหลินในเมืองซ่งเหอ มณฑลกุ้ยโจวทางตอนใต้ของประเทศ เกิดเหตุระเบิดอย่างรุนแรง เมื่อช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น เป็นผลให้คนงานที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ข้างในเสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย และบาดเจ็บ 8 ราย
เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนเสริมว่า ตรวจพบหมายเลขโทรศัพท์ของเหมืองไม่ได้จดทะเบียนกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ขณะที่การติดต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการด้านความปลอดภัยในการทำงาน (work safety commission) และรัฐบาลท้องถิ่นนครซ่งเหอ ก็ไม่มีการตอบรับใดๆ
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการหาสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดต่อไป
ทั้งนี้ ในเช้าวันพุธ (26 พ.ย.) ก่อนหน้า ก็เกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้ในเหมืองแร่มณฑลเหลียวหนิงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเจ้าของคือบริษัทขุดเหมืองเหิงต้า (Hengda Mining Company) ในเครือบริษัทถ่านหินฟู่ซิน (Fuxin Coal Corporation) อันเป็นรัฐวิสาหกิจเหมืองแร่ขนาดใหญ่ในประเทศ
การสอบสวนเบื้องต้นพบต้นตอมาจากประกายไฟจากฝุ่นถ่านหินที่ปะทุขึ้นมาหลังเกิดแผ่นดินไหวเพียง 1.6 ตามมาตราริกเตอร์ โดยคนงานเสียชีวิตทั้งสิ้น 26 ราย บาดเจ็บมากกว่า 50 คน ในกลุ่มผู้บาดเจ็บ มี 30 ราย ถูกไฟไหม้อย่างรุนแรง แบ่งเป็น 8 ราย อาการสาหัส และ 4 ราย อาการเป็นตายเท่ากัน
รายงานเพิ่มเติมว่า ทางการสั่งระงับกระบวนการทำงานของเหมืองที่เกิดเหตุ ซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปี 2530 ด้วยปริมาณการผลิต 1.5 ล้านตันในแต่ละปี และคนงานจำนวน 4,660 คน ลงทั้งหมด รวมถึงเหมืองแห่งอื่นๆ ของเหิงต้า เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพความปลอดภัย
จีนจัดเป็นประเทศที่มีสถิติผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมเหมืองแร่มากที่สุดในโลก เนื่องจากขาดแคลนการควบคุมดูแล การทุจริตคอร์รัปชั่น และคุณภาพการทำงานต่ำ โดยปัญหาความปลอดภัยมักถูกละเลยเพราะเรื่องผลกำไรเป็นตัวแปร
จากข้อมูลของรัฐบาลกลางระบุปี 2556 ที่ผ่านมา ทั้งประเทศเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับการขุดเหมือง 589 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและสูญหายรวม 1,049 ราย ลดลงมากกว่าร้อยละ 24 จากปี 2555 แต่กลุ่มกิจกรรมเพื่อสิทธิแรงงานแย้งว่า ยอดตายแท้จริงน่าจะสูงกว่านั้นมาก เนื่องจากเจ้าของเหมืองบางแห่งปกปิดไม่รายงานเหตุ เพื่อจำกัดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและหลีกเลี่ยงบทลงโทษ
ด้านทางการจีนวางแผนปิดเหมืองถ่านหินขนาดเล็กที่เป็นแหล่งเกิดอุบัติเหตุมากกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศภายในสิ้นปีหน้า เพื่อเป็นไปตามมาตรการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเหมืองในประเทศซึ่งมีอัตราการใช้แร่ถ่านหินสูงที่สุดในโลก โดยครองสัดส่วนร้อยละ 65.7 ของความต้องการพลังงานทั้งหมดในปีก่อน