ซินหัว – ทีมวิจัยนักโบราณคดีจีนในมณฑลเหลียวหนิงถอดรหัส “อักษรบนกระดองเต่า” ได้เพิ่มอีก 34 ตัว จากการศึกษาโบราณวัตถุที่มีอายุหลายพันปีกว่า 1,800 ชิ้นที่ถูกรักษาไว้ ชี้เป็นการค้นพบสำคัญ
วานนี้ (19 ต.ค.) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นักโบราณคดีจีนค้นพบตัวอักษรและอักขระใหม่จำนวน 34 ตัวบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ที่ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองหลี่ว์ซุ่น มณฑลเหลียวหนิง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
ซ่ง เจินห่าว นักวิจัยแห่งบัณฑิตยสถานด้านสังคมศาสตร์ของจีน หัวหน้าทีมวิจัยซึ่งทำการศึกษาจารึกบนกระดองเต่าตั้งแต่ปี 2554 (ค.ศ.2011) เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (16 ต.ค.) ว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นการการค้นพบครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งหลังจากจารึกบนกระดองเต่าถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อ 110 กว่าปีก่อน โดยอักษรและอักขระจารบนกระดองเต่า หรือ เจี่ยกู่เหวิน (甲骨文) รวมไปถึงกระดูกสัตว์ถือเป็นต้นกำเนิดของอักษรภาษาจีนในปัจจุบัน ถูกคิดค้นขึ้นตั้งแต่สมัย ราชวงศ์ซาง หรือในช่วง 1,700 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 1,100 ปีก่อนคริสต์ศักราช
สำหรับตัวอักษรและอักขระที่ค้นพบล่าสุด มีชื่อประเทศ สถานที่ บุคคล รวมไปถึงพิธีต่างๆ ด้วย โดยนักวิจัยค้นพบจากการศึกษากระดองเต่าและกระดูกกว่า 1,800 ชิ้นที่ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณพ์หลี่ว์ซุ่น โดย หัวหน้าทีมวิจัยระบุว่า ทีมของเขาถ่ายภาพอักษรบนกระดูกทั้งหมด และนำมาแกะเพื่อวิเคราะห์หาตัวอักษรและอักขระใหม่ๆ
ซ่งระบุด้วยว่า ถึงปัจจุบัน นักโบราณคดีทั่วโลกสามารถจำแนกแยกแยะตัวอักษรบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ได้ราว4,000 ตัว จากหลักฐานชิ้นส่วนกระดองเต่าและกระดูสัตว์ 130,000 ชิ้น ทว่ายังมีตัวอักษรและอักขระอีกครึ่งหนึ่งที่พวกเรายังไม่สามารถแปลความหมายออกมาได้
อักษรจีนถือเป็นระบบอักษรเขียนที่มนุษยชาติใช้ต่อเนื่องยาวนานมากที่สุดในโลก ทั้งนี้อักษรจารบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดยปัญญาชนและนักสะสมโบราณวัตถุนาม หวัง อี้หรง โดยเขาได้กระดองเต่าและกระดูกสัตว์ที่ถูกขุดขึ้นมาโดยชาวนาในเมืองอันหยาง มณฑลเหอหนานก่อนที่จะค้นพบหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว