รอยเตอร์ - ซาอุดีอาระเบียอาจจำเป็นต้องปรับลดงบประมาณลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2002 ผลจากภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำ แต่นักวิเคราะห์คาดหมายว่าคงเป็นการตัดทอนไม่มากนัก ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของอาหรับแห่งนี้
ร้อยละ 90 ของรายได้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียมาจากการส่งออกน้ำมัน และเชื่อว่าพวกเขาจำเป็นต้องได้ราคาน้ำมันเฉลี่ยเหนือกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อความสมดุลทางงบประมาณในปีนี้
อย่างไรก็ตามในสัปดาห์นี้ น้ำมันดิบเบรนท์ลดลงแตะระดับ 67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากที่เคยพุ่งขึ้นไปสูงถึง 1115 ดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน และหากราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับนี้ต่อไป เชื่อว่าแผนงบประมาณสำหรับปีหน้าของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งคาดหมายว่าน่าจะจัดทำในช่วงปลายเดือนนี้ จะเป็นงบประมาณขาดดุลครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2009
จอห์น สฟาเคียนาคิส อดีตที่ปรึกษากระทรวงการคลังซาอุดีอาระเบีย ที่เวลานี้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการระดับภูมิภาคของแอชมอร์ บริษัทจัดการกองทุนในริยาด ให้ความเห็นว่า "ไม่มีทางที่ทางการซาอุฯ จะแถลงงบประมาณในปี 2015 เพิ่มขึ้นจากปี 2014 มันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่พวกเขาจำเป็นต้องลดงบประมาณลง แต่ผมคาดหมายว่าคงเป็นการปรับลดไม่มากนัก"
เมื่อเดือนที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประมาณการณ์ว่าซาอุดีอาระเบียน่าจะมีงบประมาณเกินดุลร้อยละ 1.6 ของจีดีพีในปี 2015 แต่ตอนนี้นักเศรษฐศาสตร์เอกชนมองว่ารัฐบาลน่าจะปรับลดเป็นงบประมาณขาดดุลราวร้อยละ 1.0
อย่างไรก็ตามเหล่านักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์คาดหมายว่าคงมีการตัดลดค่าใช้จ่ายภาครัฐไม่มากนัก เพราะว่ารัฐบาลมีเงินสำรองมหาศาลสำหรับชดเชยการขาดดุลใดๆ และด้วยหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำมาก จึงง่ายสำหรับการกู้ยืมหากจำเป็น
นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตร้อยละ 3.8 ในช่วงไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวต่อไปและโครงการสาธารณูปโภคสำคัญๆต่างๆ อาทิโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ามูลค่า 22,500 ล้าดอลลาร์สหรัฐฯในกรุงริยาดภายในปี 2019 ก็ไม่ได้ตกอยู่ในความเสี่ยง
นักวิเคาะห์บางส่วนมองว่าซาอุดีอาระเบีย พอใจที่ได้เห็นราคาน้ำมันตกต่ำ เนื่องจากมันจะช่วยสกัดคู่แข่ง น้ำมันชั้นหินของสหรัฐฯที่มีต้นทุนแพงกว่า และมีความมั่นใจว่ามีทุนสำรองเพียงพอสำหรับรับมือกับช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันตกต่ำ