เอเอฟพี – สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ (Moody’s) ประกาศลดเรตติ้ง 5 ธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่น วันนี้(2) หลังจากที่ลดเครดิตประเทศเหลือเพียง A1 โดยอ้างถึงวิกฤตหนี้สาธารณะ และเศรษฐกิจแดนปลาดิบที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย
สถาบันการเงินทั้ง 5 แห่งซึ่งถูกปรับความน่าเชื่อถือ ได้แก่ ธนาคารโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ, มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ทรัสต์ แอนด์ แบงกิง, ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิง รวมไปถึงธนาคารชิซูโอกะ และธนาคารชูโกกุ
มูดีส์ ซึ่งได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นแล้วเมื่อวานนี้(1) ระบุว่า สถาบันการเงินทั้ง 5 แห่งถูกลดเรตติ้งลง 1 ขั้น จากระดับ Aa3 เหลือ A1 โดยมีภาพรวมอยู่ในขั้น “เสถียร”
“การปรับเรตติ้งธนาคารพาณิชย์ครั้งนี้สอดคล้องกับการตัดสินใจลดเครดิตญี่ปุ่นจากระดับ Aa3 ลงมาเหลือ A1... และสะท้อนมุมมองของเราที่ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีศักยภาพพอที่จะอุ้มชูภาคธนาคารอยู่ในขั้น A1” สถาบันแห่งนี้ระบุในถ้อยแถลง
“อย่างไรก็ตาม มูดีส์ เล็งเห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นยังมีเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะสนับสนุนธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศ”
คำประกาศของ มูดีส์ ส่งผลให้เครดิตญี่ปุ่นตกต่ำกว่าเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้ และร่วงลงไปอยู่ระดับเดียวกับอิสราเอลและสาธารณรัฐเช็ก
มูดีส์ ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับสภาพการคลังของญี่ปุ่นที่ “ทวีความไม่แน่นอน” โดยชี้ว่าญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก ขณะที่แผนปฏิรูปเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ก็ไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในทางตรงข้ามกลับทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลดิ่งเหว จนต้องประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนดถึง 2 ปี
สัปดาห์ที่แล้ว อาเบะ แถลงว่า รัฐบาลจะเลื่อนแผนปรับภาษีการขายเป็น 10% ในเดือนตุลาคมปีหน้าออกไปก่อน พร้อมประกาศจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในเดือนนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าจะเป็น “ผลประชามติ” ชี้วัดว่าคนญี่ปุ่นยังศรัทธาในมนต์ขลังของ “อาเบะโนมิกส์” มากน้อยเพียงใด