รอยเตอร์ - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสวันนี้ (2 ธ.ค.) เตรียมลงมติให้การรับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐ ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อจุดยืนทางการทูตของฝรั่งเศสทันที แต่เป็นการแสดงออกให้เห็นว่า ยุโรปเริ่มหมดความอดทนอดกลั้น ต่อกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลางอันชะงักงันมากขึ้นทุกที
แม้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ต่างให้การยอมรับปาเลสไตน์ในฐานะรัฐ แต่ชาติยุโรปตะวันตกโดยมากกลับไม่มองเช่นนั้น โดยประเทศเหล่านี้เลือกสนับสนุนจุดยืนของอิสราเอลกับสหรัฐฯ ที่ว่า ปาเลสไตน์ควรได้รับสถานะรัฐอธิปไตยผ่านกระบวนการเจรจากับอิสราเอลเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บรรดาประเทศในยุโรปเริ่มผิดหวังกับรัฐยิวหนักขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังที่อิสราเอลเดินหน้าโครงการก่อสร้างนิคมชาวยิวในดินแดนที่ปาเลสไตน์ต้องการจัดตั้งนครรัฐในอนาคต นับตั้งแต่การเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์รอบล่าสุด ที่สหรัฐฯ คอยผลักดันพังไม่เป็นท่าเมื่อเดือนเมษายน
ปาเลสไตน์ระบุว่า การเจรจาครั้งนั้นล้มเหลว และพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกเหนือจากการเดินหน้าเรียกร้องเอกราชแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ
เมือเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สวีเดน กลายเป็นชาติใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรปตะวันตกที่ให้การรับรองสถานะ รัฐปาเลสไตน์ ขณะที่รัฐสภาในอังกฤษและไอร์แลนด์ก็โหวตสนับสนุนให้รับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐ ซึ่งเป็นญัตติเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่มีผลผูกพัน
ทางด้าน อิสราเอลได้ออกมาแสดงท่าทีต่อต้านการกระทำของชาติเหล่านี้อย่างรุนแรง โดยนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอลระบุว่า การลงมติที่ฝรั่งเศสในวันนี้ (2) เป็น “ความผิดพลาดอย่างร้ายแรง”
พรรคสังคมนิยม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของแดนน้ำหอม คือตัวตั้งตัวตีในการลงมติครั้งนี้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายซ้าย และพรรคอนุรักษนิยมบางพรรค โดยการโหวตครั้งนี้เรียกร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศส “ใช้การรับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐ เพื่อเป้าหมายในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างเด็ดขาด”
โลรองต์ ฟาเบียส รัฐมนตรีต่างประเทศแดนน้ำหอมกล่าวก่อนการโหวตรับรองญัตติในรัฐสภาฝรั่งเศสว่า การโหวตครั้งนี้จะไม่มีผลผูกมัดต่อรัฐบาล แต่เขาชี้ว่า จะถือเป็นการไม่ยอมรับสถานะเดิม และฝรั่งเศสจะรับรองสถานะรัฐปาเลสไตน์ต่อไป แม้ว่าในที่สุดแล้วอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะไม่สามารถระงับข้อพิพาทผ่านการเจรจาทางการทูต ในกรณีที่การเจรจาสันติภาพรอบสุดท้ายล้มเหลว
นอกจากนี้ เขาสนับสนุนกรอบเวลาในการเปิดเจรจาครั้งใหม่ ซึ่งจะต้องได้บทสรุปในการเจรจาภายใน 2 ปี พร้อมกับระบุว่า ฝรั่งเศสกำลังทำตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประกาศรับรองสถานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์เมื่อปี 2012
ฟาเบียส กล่าวว่า “หากความพยายามหาทางออกด้วยการเจรจารอบสุดท้ายยังล้มเหลว ตอนนั้นฝรั่งเศสก็จะทำตามญัตตินี้ต่อไป ด้วยการรับรองสถานะของรัฐปาเลสไตน์โดยไม่รีรออะไรทั้งสิ้น”
ทั้งนี้ การลงมติซึ่งจะมีขึ้นในเวลา 11.00 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (ตรงกับ 23.00 น. ในเมืองไทย) นั้นได้กลายเป็นแรงกดดันจากการเมืองภายในประเทศ ให้รัฐบาลฝรั่งเศสหันมากระตือรือร้นสนใจประเด็นปัญหานี้มากขึ้น โดยผลสำรวจความคิดเห็นเมื่อเร็วๆ นี้สะท้อนให้เห็นว่า ชาวฝรั่งเศสร้อยละ 60 สนับสนุนให้มีการรับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐ