เอเอฟพี - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษลงคะแนนโหวตท่วมท้นให้รับรองสถานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์วานนี้ (13 ต.ค.) ซึ่งถือเป็นญัตติที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ แม้จะไม่มีผลบังคับให้รัฐบาลอังกฤษต้องเปลี่ยนจุดยืนทางการทูตก็ตาม
บรรดา ส.ส.เมืองผู้ดีลงคะแนนโหวต 274 ต่อ 12 เสียงให้ “รับรองสถานะรัฐของปาเลสไตน์ควบคู่ไปกับรัฐอิสราเอล เพื่อสนับสนุนแนวทางการจัดตั้ง 2 รัฐเคียงคู่กัน”
ทั่วโลกต่างจับตาการอภิปรายอย่างดุเดือดภายในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ (House of Commons) ซึ่งถือว่ามีนัยสำคัญทางการทูต เพราะผลที่ออกมาเท่ากับเป็นแรงสนับสนุนต่อการรณรงค์ของฝั่งปาเลสไตน์
ก่อนหน้านี้ สวีเดนได้ประกาศรับรองสถานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์แล้ว ถือเป็นสมาชิกอียูในยุโรปตะวันตกชาติแรกที่ทำเช่นนี้ และสร้างความโกรธเคืองต่ออิสราเอลไม่น้อย
ทั้งนี้ การโหวตญัตติรับรองความเป็นรัฐปาเลสไตน์ที่สมาชิกพรรคแรงงานฝ่ายค้านเสนอขึ้น ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และรัฐบาลอังกฤษก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการทูตที่มีต่อปาเลสไตน์
รัฐบาลอังกฤษระบุว่า จะยอมรับความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
“ความมุ่งมาดปรารถนาของชาวปาเลสไตน์จะยังไม่ถูกรับรองโดยสมบูรณ์ จนกว่าการยึดครองดินแดนจะสิ้นสุดลง... ซึ่งเราเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้จากการเจรจาเท่านั้น” โทเบียส เอลล์วูด รัฐมนตรีฝ่ายกิจการตะวันออกกลาง ให้สัมภาษณ์
“เมื่อการยึดครองดินแดนยุติลง ความเป็นรัฐปาเลสไตน์จึงจะถูกต้องสมบูรณ์... สหราชอาณาจักรจะยอมรับสถานะรัฐปาเลสไตน์แบบทวิภาคี เมื่อเราพิจารณาเห็นว่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะนำไปสู่สันติภาพ”
นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน และคณะรัฐมนตรี ซึ่งสนับสนุนการจัดตั้ง 2 รัฐเคียงคู่กันเพื่อเป็นทางออกของความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ งดออกเสียงในการโหวตครั้งนี้
แม้จะมี ส.ส.ลงคะแนนโหวตไม่ถึงครึ่งสภา แต่เสียงสนับสนุนนั้นมาจากหลายพรรค โดย ส.ส.พรรคแรงงานโหวตเห็นชอบ 192 เสียง รวมถึงหัวหน้าพรรคอย่าง เอ็ด มิลิแบนด์ ส่วน ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมก็โหวตสนับสนุนถึง 39 เสียง
แจ็ก สตรอว์ ส.ส.พรรคแรงงาน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ไม่เห็นด้วยกับมุมมองที่ว่า การโหวตญัตตินี้ไม่มีผลอะไร
“ผมมองว่าการที่อิสราเอลออกอาการไม่พอใจที่สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษจะโหวตญัตตินี้ ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีว่า ผลที่ออกมาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน” เขากล่าว
ทางการปาเลสไตน์ประเมินว่า มีไม่น้อยกว่า 134 ประเทศที่รับรองสถานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์แล้ว ทว่าตัวเลขดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงอยู่
ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ลงมติเสียงข้างมากให้ปาเลสไตน์มีฐานะเป็นรัฐสังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิกเมื่อปี 2012 ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากสหรัฐฯ และอิสราเอล ขณะที่อังกฤษเป็นชาติหนึ่งที่งดออกเสียง