รอยเตอร์ – สมาชิกรัฐสภาอังกฤษจะจัดการลงมติเชิงสัญลักษณ์วันนี้ (13) ว่า รัฐบาลควรให้การยอมรับปาเลสไตน์ในฐานะรัฐหรือไม่ โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าว แม้ว่าไม่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างเป็นทางการได้ แต่ก็ช่วยยกระดับประเด็นดังกล่าวให้มีความสำคัญในเชิงการเมือง
อังกฤษยังไม่ถือว่าปาเลสไตน์มีสถานะเป็นรัฐ แต่ระบุว่า พวกเขาอาจให้การยอมรับได้ทุกเมื่อ หากมองว่ามันจะเป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน
ญัตติสำหรับการอภิปรายในสภาล่างของอังกฤษครั้งนี้ ซึ่งถูกเสนอโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติคนหนึ่งจากพรรคแรงงานฝ่ายค้าน จะถามเหล่าสมาชิกรัฐสภาว่า พวกเขาเห็นด้วยหรือไม่ว่ารัฐบาลควรยอมรับสถานะของปาเลสไตน์
หัวหน้าพรรคแรงงานซึ่งมีจุดยืนเอียงซ้ายได้ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนญัตติดังกล่าว โดยบอกกับบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติในพรรคของตนให้โหวตเห็นชอบกับญัตตินี้ อันเป็นคำประกาศซึ่งสร้างความโกรธเกรี้ยวให้กับเหล่าสมาชิกนิยมอิสราเอลของรัฐสภาที่เตรียมจะต่อต้าน หรือพร้อมใจไม่มาร่วมการลงมติ
ด้านพรรคอื่นๆ ปล่อยให้สมาชิกในพรรคของพวกเขาทำการโหวตตามแต่มโนธรรมของตนเอง ขณะที่คณะรัฐมนตรีคาดว่าจะงดออกเสียง
ถึงแม้ว่า ส่วนมากของสมาชิกทั้ง 650 ของสภาล่างจะเห็นชอบกับญัตตินี้ แต่มันก็ไม่ได้มีผลผูกมัดและไม่ได้ทำให้รัฐบาลเมืองผู้ดีต้องเปลี่ยนจุดยืนทางการทูต
การอภิปรายครั้งนี้มีขึ้น ขณะที่รัฐบาลฝ่ายกลางซ้ายชุดใหม่ของสวีเดนเตรียมรับรองสถานะของปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกอิสราเอลวิจารณ์อย่างหนัก
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติเห็นชอบรับรองสถานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ในปี 2012 ทว่าสหภาพยุโรป (อียู) และชาติสมาชิกอียูส่วนใหญ่ รวมถึงอังกฤษ ยังไม่ได้ให้การรับรองอย่างเป็นทางการ
ปาเลสไตน์ต้องการสถานะความเป็นรัฐเอกราชในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา โดยมีเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวง
แม้ว่าจะมีการกำหนดเส้นเขตแดนของฉนวนกาซาอย่างชัดเจนแล้ว แต่อาณาเขตที่แน่ชัด ซึ่งจะใช้ก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเล็มตะวันออกจะถูกกำหนดขึ้นผ่านการเจรจาทวิภาคีระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันการเจรจาดังกล่าวถูกระงับไว้ชั่วคราว