เอเอฟพี - ประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน แห่งตุรกีวันนี้ (1 ธ.ค.) จัดการเจรจาในกรุงอังการากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เพื่อกระชับสายสัมพันธ์ของทั้งสองที่ยืนหยัดต้านทานแรงมรสุมข้อพิพาทร้ายแรงต่างๆ จากวิกฤตซีเรียและยูเครนมาได้อย่างแข็งแกร่ง
การเจรจาครั้งนี้คาดกันว่าจะมุ่งเน้นที่ความร่วมมือด้านพลังงานซึ่งอังการาไม่ได้เพียงแต่จะหาทางนำเข้าก๊าซจากแดนหมีขาวในราคาที่ต่ำลงเท่านั้นแต่ยังต้องการนำเข้าในปริมาณที่มากขึ้นก่อนฤดูหนาวจะมาถึงอีกด้วย นอกจากนั้นคือประเด็นทางการทูตที่สำคัญต่างๆ
นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้นำทั้งสองได้พบปะกันแบบทวิภาคีนับตั้งแต่ เออร์โดกัน ย้ายจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมานั่งตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนสิงหาคม การเปลี่ยนตำแหน่งลักษณะเดียวกันกับที่ ปูติน ทำเมื่อปี 2012
นักวิจารณ์หลายคนมักสังเกตเห็นถึงความเหมือนกันต่างๆ นี้ระหว่าง เออร์โดกัน วัย 60 ปี กับปูติน วัย 62 ปี บุรุษทรงอำนาจบารมีสองคนที่ต่างถูกกล่าวหาว่าใช้ลัทธิอำนาจนิยม แต่ก็ยังรักษาฐานเสียสนับสนุนในประเทศของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
จนถึงตอนนี้รัสเซียและตุรกีดูเหมือนว่าจะสามารถปกป้องความสัมพันธ์อันแนบแน่นของพวกเขาจากข้อพิพาทต่างๆ จากวิกฤตในซีเรียและยูเครนที่อาจส่งผลร้ายไว้ได้
อย่างไรก็ตาม อังการาซึ่งเป็นผู้สนับสนุนความมีบูรณภาพแห่งดินแดนของชาติเพราะศึกภายในระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด ได้ต่อต้านการที่รัสเซียยึดไครเมียจากยูเครนในปีนี้
นอกจากนี้ อังการายังเป็นกังวลถึงสถานการณ์บริเวณคาบสมุทรทะเลดำของชนกลุ่มน้อยตาตาร์เชื้อสายเตอร์กิกในไครเมีย ที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวระบุว่า เป็นเหยื่อของการข่มเหงโดยหน่วยงานปกครองโปรเครมลินกลุ่มใหม่
ในขณะเดียวกัน ประเทศทั้งสองก็เห็นขัดแย้งกันในเรื่องความขัดแย้งซีเรีย โดยทาง ปูติน เป็นพันธมิตรหลักรายสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แต่ เออร์โดกัน สนับสนุนให้ขับไล่ผู้นำซีเรียรายนี้ออกไปโดยทันที
อย่างไรก็ตาม ข้อขัดแย้งเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ส่งผลเสียใดๆ กับความร่วมมือด้านอื่นๆ ทั้งนี้ตุรกีนั้นเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวรัสเซียมากกว่า 4 ล้านคนในแต่ละปีและรัสเซียกำลังสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของตุรกีในโครงการซึ่งมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 6.5 แสนล้านบาท)
“ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและรัสเซียยังคงมีเสถียรภาพ และจะเป็นเช่นนั้นสืบไปโดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในปัจจุบัน” ปูติน กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว อนาโตเลีย ของตุรกีก่อนหน้าการมาเยือน
เขายอมรับว่า “เป็นเรื่องธรรมดาที่จุดยืนของเราในบางประเด็นอาจไม่เหมือนกันเสียทีเดียวหรืออาจแตกต่างกันเลย นี่เป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยเสรี”
ตุรกีซึ่งเป็นประเทศในยุโรปที่นำเข้าก๊าซจากรัสเซียมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเยอรมนี ต้องการราคาก๊าซที่ถูกกว่านี้ แต่ก็ต้องการก๊าซจากรัสเซียในปริมาณมากขึ้นกว่าเดิมด้วยโดยเฉพาะในฤดูหนาวรอบนี้
เทเนอร์ ยิลดิซ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน กล่าวเตือนในช่วงการเยือนมอสโกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าในบางภูมิภาคของตุรกีจำเป็นต้องใช้ก๊าซมากกว่าช่วงฤดูร้อนถึง 20 เท่า โดยบริษัท ก๊าซปรอม ให้คำมั่นไว้ว่าจะเพิ่มการจัดส่งก๊าซแก่ตุรกีในปีนี้เป็น 3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มจาก 2.67 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรของเมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขประมาณการดังกล่าวได้ตกลงมาแล้วในตอนนี้เพราะวิกฤตในยูเครน ประเทศทางผ่านที่สำคัญ โดยสัญญานความร้ายแรงของประเด็นนี้ได้ปรากฏออกมาจากการที่ อเล็กเซย์ มิลลิเอร์ ประธานบริหาร ก๊าซพรอม ได้จัดการประชุมส่วนตัวกับ ยิลดิซ และ เออร์โดกัน ที่นครอิสตันบูลเมื่อวันเสาร์ (29) อ้างจากถ้อยแถลงของบริษัทสัญชาติรัสเซียแห่งนี้