เอพี - ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอาจต้องเตรียมเผชิญบรรยากาศน่ากระอักกระอ่วนใจวันนี้ (22 พ.ค.) ในความพยายามผ่านร่างมติร้องศาลอาญาระหว่างประเทศ ให้ไต่สวนอาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตซีเรีย โดยมีหลายสิบประเทศร่วมลงนาม เพื่อสร้างความอับอายแก่รัสเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้ให้คำมั่นว่าจะยับยั้งมาตรการเรียกร้องกระบวนการยุติธรรม
วิทาลี เชอร์คิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติกล่าววานนี้ (21) ว่า มอสโกจะใช้สิทธิวีโต (สิทธิยับยั้ง) ร่างมติของฝรั่งเศส พร้อมทั้งระบุว่า มติดังกล่าวเป็นเพียงการสร้างกระแส ที่จะทำลายความพยายามหาทางออกด้วยวิธีทางการเมือง เพื่อแก้ไขวิกฤตที่เหล่านักเคลื่อนไหวกล่าวว่า คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วกว่า 160,000 คน ทั้งยังทำให้คนอีกหลายล้านต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น
เจรารด์ อาโรด์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหประชาชาติโต้กลับว่า เชอร์คินไม่สามารถกล่าวว่า มตินี้จะบ่อนทำลายกระบวนทางการเมือง “เนื่องจากไม่มีกระบวนการทางการเมือง” พร้อมกันนี้เขาท้าให้รัสเซีย อธิบายว่าเหตุใดจึงตัดสินใจใช้สิทธิวีโต
ทั้งนี้ ร่างมติฉบับดังกล่าวประณาม “การละเมิด (สิทธิมนุษยชน และละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ) ที่กำลังลุกลามบานปลาย” ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในซีเรีย และกลุ่มติดอาวุธหนุนรัฐบาลซีเรีย ตลอดจนการทำร้ายทารุณ และล่วงละเมิดโดย “กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ได้สนับสนุนรัฐ” ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยจะยื่นคำร้องต่อศาลอาญาอาญาระหว่างประเทศ โดยไม่คำนึงว่าผู้ถูกไต่สวนจะยืนข้างใด
คณะมนตรีความมั่นคงต้องเผชิญความแยกแตกอย่างรุนแรงในประเด็นซีเรีย โดยรัสเซียและจีนเป็นพันธมิตรซีเรีย จึงไม่ลงรอยกับสหรัฐฯ และบรรดาพันธมิตรชาติตะวันตก ตลอดจนชาติสมาชิกอื่นๆ ที่สนับสนุนกบฏซีเรีย
ครั้งนี้คือครั้งที่ 4 ที่รัสเซียใช้สิทธิความเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีในการวีโต เพื่อเลี่ยงไม่ให้มีการใช้ปฏิบัติต่อต้านรัฐบาลประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย นอกจากนี้ จีนซึ่งสนับสนุนรัฐบาลอัสซาด เคยใช้สิทธิวีโตพร้อมกับรัสเซียมาแล้วหลายครั้ง และนักการทูตชี้ว่า ดูเหมือนปักกิ่งก็จะทำเช่นนั้นอีกในวันนี้ (22)
ลักห์ดาร์ บราฮิมี ทูตสันติภาพยูเอ็นและสันนิบาตอาหรับ ซึ่งพยายามผลักดันกระบวนการเจรจาสันติภาพ ได้ตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่ง เมื่อความพยายามผลักดันกระบวนการสะดุดหยุดลง ส่งผลให้เกิดความผิดหวังอย่างรุนแรง ขณะที่ประชาคมนานาชาติพยายามดิ้นรนหาทางออกให้แก่สงคราม และส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวซีเรียเกือบ 3.5 ล้านคนที่กำลังขาดแคลน ตลอดจนยุติการอภัยโทษแก่ผู้ก่ออาชญากรรมเลวร้าย
ชาติสมาชิกยูเอ็นราว 50 ประเทศได้ร่วมลงนามเพื่อสนับสนุนมติคณะมนตรีความมั่นคงฉบับล่าสุด โดยระบุว่าพวกเขาต้องการส่ง “สัญญาณทางการเมืองอย่างจริงจัง ... ว่าการอภัยโทษให้ผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่สุด และผู้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
ซีเรียไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้นมา ดังนั้นหนทางเดียวที่ทำได้ก็คือคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ที่กรุงเฮก ของเนเธอร์แลนด์ โดยก่อนหน้านี้คณะมนตรีเคยยื่นฟ้องวิกฤตดาร์ฟู และลิเบีย ต่อศาลโลก แต่ชาติที่ไม่ใช่สมาชิกคณะมนตรีไม่ได้สนับสนุนกันอย่างมากมายนัก
ขณะพยายามโน้มน้าวทั้งสองฝ่ายในสัปดาห์นี้ เมื่อวันอังคาร (10) บาชาร์ จาฟารี เอกอัครราชทูตซีเรียประจำสหประชาชาติส่งหนังสือเพื่อขอไม่ให้ประเทศต่างๆ สนับสนุนร่างมติฉบับนี้ โดยระบุว่า มติดังกล่าว “มีอคติลำเอียง” และเป็นความพยายาม “ทำลายโอกาสแก้ไขวิกฤตซีเรียด้วยสันติวิธี ที่ประชาชนชาวซีเรียเป็นผู้ผลักดัน”
นอกจากนี้ จาฟารียังกล่าวหาฝรั่งเศสว่า สนับสนุน “กลุ่มก่อการร้าย” ให้ดำเนินการในประเทศของเขาเอง
ในหนังสือที่ส่งถึงคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อวันอังคาร (20) นาจิบ กัดเบียน ผู้แทนแนวร่วมแห่งชาติซีเรีย (เอสซีเอ็น) ประจำสหประชาชาติ กล่าวโทษรัฐบาลซีเรีย ว่าเป็นผู้ก่ออาชญากรรมต่างๆ มากมาย เป็นต้นว่า การใช้อาวุธเคมี และระเบิดถังน้ำมัน
กัดเบียนระบุว่า “มีข้อบ่งชี้ทุกประการว่า โดยส่วนใหญ่แล้วการกระทำเลวร้ายมากมายเป็นฝีมือของกองกำลังติดอาวุธของซีเรีย ที่ผ่านความเห็นชอบ และเป็นการสมคบคิดกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงสุด อย่างผู้นำประเทศซีเรีย”
ที่ผ่านมาคณะมนตรีความมั่นคงสามารถผ่านร่างมติได้ 2 ครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งเพื่อให้ซีเรียกำจัดอาวุธเคมี และอีกครั้งหนึ่งในปีนี้ ที่เรียกร้องให้กบฏและรัฐบาลซีเรียเปิดทางรับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
มติฉบับใหม่นี้เป็นผลมาจากรายงานของคณะกรรมาธิการอิสระ ซึ่งก่อตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้มีการสืบสวนการละเมิดสิทธิในซีเรีย โดยคณะกรรมาธิการชุดนี้ระบุในรายงานฉบับล่าสุดที่นำออกเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนว่า มีการก่อเหตุสังหารหมู่อย่างน้อย 8 ครั้งในซีเรีย ซึ่งเป็นฝีมือของรัฐบาลอัสซาด และฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ขณะที่ครั้งหนึ่งเมื่อปีครึ่งที่ผ่านมา เป็นการก่อเหตุของกบฏ และคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้เก็บบันทึกรายชื่ออาชญากรไว้เป็นความลับ