เอเอฟพี - รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งตีพิมพ์ในวันนี้ (21 พ.ย.) ชี้ ปัจจุบันโลกยังทุ่มเทความพยายามป้องกันปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวไม่มากพอ เนื่องจากยังมีผู้หญิงทั่วโลก ถูกทำร้ายร่างกายมากถึง 1 ใน 3
ผู้หญิงตั้งแต่ 100 ถึง 140 ล้านคน ถูกทารุณจนอวัยวะเพศฉีกขาด และเด็กสาวราว 70 ล้านคนแต่งงานตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบังคับสมรส ขณะที่ผู้หญิงร้อยละ 7 ตกอยู่ในสภาวการณ์เสี่ยงต่อการถูกข่มขื่น
สถานการณ์การใช้ความรุนแรงต่อสตรี ซึ่งมักทวีความเลวร้ายขึ้น ในช่วงเกิดวิกฤตสู้รบ และวิกฤตด้านมนุษยธรรม นั้นส่งผลร้ายต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของสตรีที่ตกเป็นเหยื่ออย่างรุนแรง
ชาร์ลอตต์ วัตต์ส อาจารย์จากวิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ระบุว่า แม้ว่าเรา “ไม่สามารถเสกให้ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อสตรีหมดไปได้ แต่ก็มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรมของคนนั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และประสบความสำเร็จได้ภายในเวลาไม่ถึงช่วงอายุคน”
รายงานฉบับนี้ชี้ว่า แม้ว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และมองการณ์ไกล แต่ก็ยังมีผู้หญิงมากมายถูกเลือกปฏิบัติอย่างมีอคติลำเอียง และตกเป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรง อีกทั้งไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล และขอคำปรึกษาทางกฎหมาย เมื่อพวกเธอตกเป็นเหยื่อความรุนแรง”
คลอเดีย การ์เซีย-โมเรโน แพทย์ของ WHO กล่าวว่า “การตรวจพบหญิง หรือเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงตั้งแต่เนิ่นๆ รวมทั้งการเข้าช่วยเหลือ และตอบสนองปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพได้ทันท่วงที จะช่วยให้พวกเธอมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งช่วยให้พวกเธอสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ที่จำเป็น”
คณะผู้จัดทำการศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อสตรีจะถูกกกำจัดไปอย่างจริงจัง ก็ต่อเมื่อรัฐบาลทุ่มทรัพยากรต่อสู้กับปัญหามากขึ้น รวมทั้งตระหนักว่าปัญหานี้สามารถกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ เหล่าผู้นำโลกควรแก้ไขกฎหมายที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติต่อสตรี และปรับปรุงสถาบันที่สนับสนุนการกีดกันทางเพศ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงเพิ่มขึ้น ในขณะที่รัฐบาลของแต่ละชาติก็ต้องสนับสนุนการศึกษาวิจัยในประเด็นปัญหานี้ และเร่งดำเนินมาตรการที่ใช้ได้ผลโดยด่วน