รอยเตอร์ – องค์การให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงรังแกมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลกเผยว่า ชาวโรฮิงญาหลายพันคนที่ล่องเรือหนีออกจากพม่าในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ยังเดินทางไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่พวกเขาหวังไว้ จนกระตุ้นให้เกิดความหวั่นวิตกว่า เรือของพวกเขาอาจถูกสกัดไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งทำให้เข้าไม่ถึงฝั่ง
คริส เลวา จากโครงการอาระกัน ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้วางแผนโยกย้ายถิ่นฐานทั่วอ่าวเบงกอลระบุว่า ชาวโรฮิงญาราว 12,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมไร้สัญชาติ ได้เดินทางออกจากรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของพม่าตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา
เลวากล่าวว่า นอกจากนี้ ผู้อพยพทางเรืออีก 4,000 คน ซึ่งมีทั้งชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศก็มุ่งหน้าออกจากบังกลาเทศในช่วงเวลาเดียวกัน
เรือของผู้อพยพนั้นบ่ายหน้าไปยังมาเลเซีย แต่คนส่วนใหญ่เดินทางผ่านไทย ซึ่งเป็นจุดที่มีขบวนการลักลอบขนผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย และแก๊งค้ามนุษย์จับผู้อพยพไปขังตามค่าย ในป่าใกล้พรมแดนมาเลเซีย เพื่อเรียกค่าไถ่จากญาติพี่น้องของเหยื่อ
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้อพยพ 460 คนถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของไทย แต่อีกหลายพันคนยังคงเดินทางไปไม่ถึงแผ่นดินใหญ่ ทั้งยังไม่ติดต่อกลับไปหาญาติพี่น้องภายหลังการเดินทาง ซึ่งโดยปกติแล้วใช้เวลาราว 5 วันเท่านั้น
เลวา เล่าว่า ครั้งสุดท้ายที่มีชาวโรฮิงญาสูญหายไปเป็นจำนวนมากคือเมื่อปี 2008 ก่อนที่ชาวโรฮิงญาหลายร้อยคน ซึ่งจำนวนมากตกอยู่ในสภาพอดอยาก และร่างกายขาดน้ำ จะถูกปล่อยตัวจากน่านน้ำอินโดนีเซีย และอินเดีย แต่ก็มีความหวาดกลัวว่า คนส่วนที่เหลืออาจสูญหายไปในทะเล
ต่อมา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เปิดเผยว่ามี “บางกรณี” ที่เรือของชาวโรฮิงญาถูกผลักดันออกไปยังทะเลเพื่อ “ปล่อยให้คนเหล่านี้ไปขึ้นฝั่งที่อื่น” แต่พวกเขามีอาหารและน้ำดื่มเพียงพอ
เมื่อปี 2012 ชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายหมื่นคนต้องพลัดถิ่นฐานบ้านเกิด ภายหลังปะทะกับชาวพุทธอย่างรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า โดยในตอนนี้มีชาวโรฮิงญาจำนวนมากอาศัยอยู่ในค่ายกักกันสภาพสกปรกมอซอ โดยที่พวกเขาแทบไม่มีโอกาสในการประกอบอาชีพ หรือสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล และการศึกษา
ทั้งนี้ ชาวพม่ามีอคติต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้อย่างรุนแรง โดยทางการระบุว่า พวกเขาไม่มีสิทธิที่ได้รับสัญชาติ ถึงแม้จะอยู่อาศัยในแผ่นดินมาหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม
เมื่อวันศุกร์ (14) ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้วิพากษ์วิจารณ์การเลือกปฏิบัติอย่างมีอคติต่อคนต่างชาติพันธุ์ทั่วโลก รุนแรงยิ่งขึ้น และเรียกร้องให้พม่ามอบสิทธิอันเท่าเทียมให้แก่ชาวโรฮิงญา