เอเอฟพี - มาเลเซียวันนี้ (22 มิ.ย.) ออกมาคัดค้าน หลังถูกสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ล้มเหลวในการจัดการปัญหา “การค้ามนุษย์” หลังจากรายงานประจำปีฉบับหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้สร้างความอับอายให้แก่มาเลเซีย ตลอดจนไทย และเวเนซุเอลา
ทางด้าน ไทยก็ออกมาแสดงความผิดหวังที่ตกลงไปอยู่ “ที่โหล่” ของการจัดอันดับประเทศที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาระบบทาสสมัยใหม่ ในรายงานประจำปีว่าด้วยสถานการณ์การค้ามนุษย์ “Trafficking in Persons” โดยประเทศที่อยู่ในอันดับต่ำสุดอาจถูกสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตร
กระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย ซึ่งเป็นแม่เหล็กดูดแรงงานและผู้ลี้ภัยจากชาติยากจนกว่าในภูมิภาคเดียวกันกล่าวว่า การต่อสู้กับ “อาชญากรรมอันชั่วร้าย” เป็นงานที่ยังต้องเดินหน้าต่อไป
กระทรวงระบุในคำแถลงว่า “ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มาเลเซียได้ดำเนินมาตรการมากมายเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และการลอบนำผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ควรพิจารณาการประเมินมาเลเซียใหม่อีกครั้ง”
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศเสือเหลืองยังเชื่อว่า ข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำรายงานฉบับนี้ “ไม่สมบูรณ์ ไม่ถูกต้อง และมาจากองค์การที่ไม่น่าเชื่อถือ”
บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของไทย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของมาเลเซีย ก็โต้กลับรายงานฉบับนี้ โดยระบุว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในประเด็นนี้ พร้อมทั้งระบุว่า รายงานฉบับดังกล่าว ไม่รับทราบว่า รัฐบาลไทยได้ทุมเทความพยายามอย่างหนัก จนสามารถสร้างความก้าวหน้าอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และยังก่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม อีไจล์ เฟอร์นันเดซ ผู้อำนวยการองค์การพิทักษ์สิทธิแรงงานข้ามชาติ “เตนากานิตา” ของมาเลเซียกล่าวว่า หน่วยงานของเธอได้จัดการกับกรณีการละเมิดสิทธิแรงงาน และการค้ามนุษย์ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นแล้ว
กระนั้น เธอกล่าวกับเอเอฟพีว่า “เราแทบจะไม่เห็นความก้าวหน้าในการต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้เลย หากคุณได้พิจารณาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็จะพบว่าสถานการณ์อยู่ในขั้นเลวร้าย คุณปฏิเสธไม่ได้หรอก เรากำลังตกต่ำลงเรื่อยๆ”
ในรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มาเลเซีย ไทย ตลอดจนเวเนซุเอลา และแกมเบีย ถูกลดอันดับลงไปอยู่ระดับที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุด โดยรายงานที่ถูกนำออกเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (20) ฉบับนี้ระบุว่า มาเลเซียละเลยไม่ปฏิบัติตามคำเตือน ที่ระบุให้ประเทศนี้ร่างนโยบายที่สอดคล้องกับ “มาตรการขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์”
ส่วน ประเทศอย่างอิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรียรั้งอันดับต่ำสุดอยู่แล้ว
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ อาจตัดสินใจใช้มาตรการคว่ำบาตรประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 3 แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า เขาได้ผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรให้แก่จีนและรัสเซีย ซึ่งถูกปรับลดอันดับในปีที่แล้ว
สำหรับ ฟิลิปปินส์ ซึ่งยังคงรักษาตัวเองไว้ในอันดับ 2 ได้ด้วยการปฏิบัติตาม “มาตรการขั้นต่ำ” ในการกำจัดปัญหาการค้ามนุษย์ ในเวลาเดียวกันแดนตากาล็อกได้ให้คำมั่นว่า จะเดินหน้าจัดการปัญหาอย่างจริงจังขึ้นอีก หลังสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นถึงกรณีที่มีเด็กๆ ฟิลิปปินส์ถูกบีบบังคับให้แสดงพฤติกรรมทางเพศผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อสนองตัณหาผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก
อาบิเกล บัลเต โฆษกของประธานาธิบดี เบนิญโญ อากีโน แห่งฟิลิปปินส์ กล่าวทางสถานีวิทยุของทางการว่า “รัฐบาลกำลังทุมเทความพยายามอย่างถึงที่สุด เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดี (กับขบวนการค้ามนุษย์) และเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดอย่างสาสม”
เมื่อเดือนมกราคม ฟิลิปปินส์ประกาศว่า ด้วยความช่วยเหลือจากอังกฤษและออสเตรเลีย มะนิลาจึงสามารถแกะรอยจับกุมแก๊งพวกชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก 29 คน ที่ถ่ายทอดพฤติกรรมอนาจารเด็กฟิลิปปินส์ผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ เชื่อกันว่ามีประชาชนทั่วโลกตกเป็นทาสประมาณ 20 ถึง 27 ล้านคน