เอเอฟพี – ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ กล่าวเตือนอันตรายของข้อพิพาทระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนและน่านน้ำในทะเลจีนใต้ ขณะเดียวกันก็ย้ำว่าวอชิงตันยังไม่ทิ้งนโยบาย “ปรับสมดุลสู่เอเชีย” พร้อมอ้างถึงการทำข้อตกลงลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างสหรัฐฯ กับจีนว่าเป็นต้นแบบที่ทั่วโลกพึงกระทำตาม
ผู้นำสหรัฐฯ ได้กล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐควีนส์แลนด์ระหว่างเดินทางไปร่วมการประชุมซัมมิต G20 ที่ออสเตรเลีย โดยเอ่ยชื่นชมการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
“แต่ในพลวัตเหล่านี้ ก็ยังมีอันตรายที่ร้ายแรงคอยบั่นทอนความก้าวหน้า” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าว โดยอ้างถึงภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ตลอดจน “ข้อพิพาทดินแดน หมู่เกาะ กองหินปะการัง ซึ่งอาจจะลุกลามจนกลายเป็นการเผชิญหน้ากัน”
การแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะปะการังในทะเลจีนใต้ทำให้จีนต้องบาดหมางกับเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 4 ประเทศ และยังมีข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะเซ็งกากุหรือ “เตี้ยวอี๋ว์” อยู่กับญี่ปุ่นอีก
โอบามา ได้ย้ำจุดยืนที่เขาประกาศไว้หลังเข้าพบประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ที่กรุงปักกิ่งในสัปดาห์นี้ว่า สหรัฐฯ ยินดีที่จะเห็นจีนมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น แต่ปักกิ่งจะต้องแสดงออกอย่างรับผิดชอบและยึดหลักสันติวิธี
โอบามา ย้ำต่ออีกว่า จีนจะต้อง “ยึดถือกฎเกณฑ์เดียวกับนานาชาติ ไม่ว่าจะในด้านการค้าหรือเขตแดนทางทะเล” และสหรัฐฯก็พร้อมที่จะ “โต้แย้งอย่างตรงไปตรงมา หากมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับจีน”
ผู้นำสหรัฐฯ ชี้ว่า ความมั่นคงในเอเชียจะต้องไม่เกิดจาก “ประเทศใหญ่ๆ ใช้อิทธิพลบีบบังคับหรือข่มขู่ประเทศที่เล็กกว่า” แต่ต้องมีพื้นฐานจากการเป็นพันธมิตรที่ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน
4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำบางส่วนในทะเลจีนใต้ ซึ่งถือเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ และเชื่อกันว่ามีแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ซุกซ่อนอยู่ใต้พื้นมหาสมุทร
อย่างไรก็ดี ปักกิ่งกลับอ้างว่าทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดเป็นของจีน รวมไปถึงน่านน้ำที่อยู่ใกล้ชายฝั่งประเทศเพื่อนบ้านด้วย
เวียดนามและฟิลิปปินส์ต่างประณามพฤติกรรมก้าวร้าวของจีน หลังเกิดการกระทบกระทั่งกันกลางทะเลหลายครั้งเมื่อช่วงต้นปีนี้
นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน กล่าวระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกที่กรุงเนปีดอของเมียนมาร์เมื่อวันพฤหัสบดี(13)ว่า จีนและอาเซียนต่างปรารถนา “สันติภาพและเสถียรภาพ” ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยจีนนั้นพร้อมที่จะทำสัญญามิตรภาพกับอาเซียน รวมถึงปล่อยเงินกู้จำนวน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเปิดสายด่วน “ฮอตไลน์” ระหว่างกันด้วย
ด้วยแสนยานุภาพและพลังทางเศรษฐกิจที่อ่อนด้อยกว่า ชาติอาเซียนจึงต้องการรวมกลุ่มต่อรองกับจีน ขณะที่ปักกิ่งยืนกรานที่จะคลี่คลายข้อพิพาทผ่านการเจรจาแบบ “ทวิภาคี” มากกว่า
ประธานาธิบดี โอบามา ประกาศมอบเงิน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนกองทุนสภาพอากาศของยูเอ็น พร้อมอ้างถึงข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่วอชิงตันทำร่วมกับปักกิ่งในสัปดาห์นี้ว่าสมควรเป็นต้นแบบแก่นานาประเทศ
“หากจีนและสหรัฐฯ ตกลงกันในเรื่องนี้ได้ ทั่วโลกก็ต้องทำได้เช่นกัน เราสามารถทำให้เรื่องนี้สำเร็จได้”
ยูเอ็นและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมต่างชื่นชมที่สหรัฐฯ ให้คำมั่นสัญญาเรื่องเงินสนับสนุน เพราะเท่ากับเป็นการยืนยันว่า ภาวะโลกร้อนเป็นประเด็นการเมืองที่ทั่วโลกจะต้องให้ความสำคัญ