เอเอฟพี – องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้กลุ่มผู้นำประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20 ยกระดับการต่อสู้เชื้ออีโบลาที่กำลังแพร่ระบาดในแอฟริกาตะวันตก พร้อมเตือนว่าหากทำไม่สำเร็จอาจเกิด “วิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่” ตามมา
บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวต่อบรรดาผู้นำชาติ G20 ซึ่งเดินทางไปประชุมกันที่เมืองบริสเบนของออสเตรเลีย โดยวิงวอนให้ทุกประเทศตอบสนองต่อวิกฤตสาธารณสุขครั้งนี้อย่างเป็นรูปธรรม
“ผมใคร่ขอย้ำให้ทุกท่านตระหนักถึงความจำเป็นที่นานาชาติจะต้องร่วมมือกันต่อสู้การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก... แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงในบางพื้นที่ แต่ก็ยังมีเพิ่มในพื้นที่อื่นๆ ไวรัสอีโบลายังแผ่ลามเร็วกว่าการตอบสนองจากประชาคมโลก ดังนั้น ผมจึงขอร้องให้ผู้นำกลุ่มประเทศ G20 มีมาตรการช่วยเหลือมากกว่านี้” เลขาธิการยูเอ็น ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว
บัน ยังเตือนด้วยว่า ผลกระทบทางอ้อมของโรคระบาดอาจเป็นชนวนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น วิกฤตอาหาร เนื่องจากการหยุดชะงักของภาคเกษตรกรรมในประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากๆ เช่น เซียร์ราลีโอน และ ไลบีเรีย
“มันอาจจะนำสู่ไปวิกฤตอาหารครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อพลเมืองนับล้านคนในภูมิภาค” บัน กล่าว
กลุ่มประเทศ G20 เผชิญแรงกดดันให้ต้องมีมาตรการสนับสนุนทางการเงินเพื่อช่วยต่อสู้ไวรัสอีโบลา ท่ามกลางเสียงโอดครวญจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งขาดแคลนทรัพยากรและยังต้องเสี่ยงต่อการติดโรคร้าย
องค์กรบรรเทาทุกข์ทั่วโลกรวมถึง อ็อกซ์แฟม และ เซฟ เดอะ ชิลเดรน ได้ร่วมกันเรียกร้องให้กลุ่ม G20 จัดส่งทรัพยากรบุคคล อุปกรณ์การแพทย์ และเงินทุนเข้าไปช่วยเหลือประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกอย่างเพียงพอ
“นี่เป็นโอกาสที่เราจะสกัดเชื้ออีโบลาไว้ตั้งแต่ต้นทาง และเราไม่ควรจะพลาดเด็ดขาด” เฮเลน โซเก ผู้อำนวยการ อ็อกซ์แฟม ออสเตรเลีย ระบุ
องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงข้อมูลล่าสุดเมื่อวานนี้(14) ว่า มีผู้เสียชีวิตจากเชื้ออีโบลาแล้วทั้งสิ้น 5,177 รายใน 8 ประเทศ และพบผู้ติดเชื้อรวม 14,413 รายตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี 2013 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี WHO ยอมรับว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงอาจสูงยิ่งกว่านี้ เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้ออีโบลาในปัจจุบันสูงถึง 70% ขณะที่ 3 ประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกอย่าง กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ยังคงเป็นพื้นที่ที่เชื้อระบาดหนักที่สุด