เอเจนซีส์ - สหรัฐฯใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ “โดรน” บินตรวจการณ์ครึ่งหนึ่งของพรมแดนสหรัฐฯติดเม็กซิโก
บีบีซี สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้(13)ว่า จากรายงานเชิงสืบสวนของเอพีชี้ว่า สหรัฐฯได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นในการทำให้พรมแดนของประเทศที่อยู่ทางใต้มีความปลอดภัยมากขึ้น และอาจนำไปสู่การเลิกใช้เจ้าหน้าที่ประจำการณ์บริเวณพรมแดนจำนวนมากซึ่งจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน โดยการใช้โดรนตรวจการณ์บริเวณพรมแดนติดเม็กซิโก
จากปัญหาการไหลทะลักเข้าของผู้อพยพยจากอเมริกากลางนำไปสู่เสียงวิพากษ์ถึงระบบคนเข้าเมืองสหรัฐฯ
เอพีชี้ว่า สหรัฐฯใช้โดรนบินถึง 10,000 เที่ยวนับตั้งแต่มีการนำโดรนเข้าประจำการณ์ จากยุทธศาสตร์แผนลาดตระเวนใหม่ที่รัฐบาลสหรัฐฯนับมาปรับใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2013
เส้นทางการตรวจการณ์ของโดรนบินครอบคลุมระยะ 1,450 กม. ในพื้นที่ห่างไกล และทำให้เจ้าหน้าประจำพรมแดนสหรัฐฯสามารถทุ่มความสนใจไปที่บริเวณอื่น
ริชาร์ด กิล เคริลเคาสกี (Richard Gil Kerlikowske) หัวหน้าสูงสุดสำนักงานควบคุมการศุลกากรและพรมแดนสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับเอพีว่า “หน่วยงานของเรามีแต่ทรัพยากรบุคคล แต่ทางเรามีความจำเป็นที่ต้องส่งบุคลากรของสำนักงานไปยังสถานที่เสี่ยงภัย และอาจมีอันตรายถึงชีวิต”
ซึ่งนำมาสู่การใช้โดรน ที่สามารถตรวจจับสิ่งแปลกปลอมเข้าสหรัฐฯแม้กระทั่งสิ่งนั้นมีขนาดเล็ก เช่น รอยเท้า กิ่งไม้หัก หรือแม้กระทั่งรอยยางรถยนต์
นอกจากนี้ในรายงานของเอพียังชี้ว่า หลังจากมีการนำโดรนมาใช้ เจ้าหน้าที่พรมแดนสหรัฐฯจะถูกส่งออกไปบริเวณที่ห่างไกลก็ต่อเมื่อโดรนสามารถจับสัญญาณการบุกรุกจากกลุ่มผู้หนีเข้าสหรัฐฯ
และคาดกันว่าจะมีการขยายนำโดรนไปใช้บินตรวจการณ์ลาดตระเวนบริเวณพรมแดนแคนาดาในปี 2015
ไมเคิล แมคคอล (Michael McCaul) สมาชิกรัฐสภาคองเกรสสายรีพับลิกัน และนั่งเป็นประธานในคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯด้านมาตุภูมิและความปลอดภัยสหรัฐฯ ได้กล่าวชื่นชมในมาตรการใหม่ที่ใช้โดรนในการช่วยลาดตระเวน แต่ยังให้ความเห็นว่ายังคงมีช่องโหว่อีกมากที่ต้องจัดการในการรักษาความปลอดภัยตลอดบริเวณพรมแดนสหรัฐฯ
“เราไม่สามารถพึ่งพาระบบการรักษาความปลอดภัยในแบบเก่า เช่น รั้ว หรือ หอตรวจการณ์ติดกล้องทีวีวงจรปิดได้อีกต่อไป” แมคคอลกล่าว
กลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ออกแถลงการณ์ก่อนหน้านี้แสดงความกังวลในการใช้โดรนภายในสหรัฐฯโดยให้เหตุผลว่าโดรนอาจเข้าขั้นละเมิดสิทธิส่วนตัวของประชาชนสหรัฐฯ
ที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ต้องประสบปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากนโยบายดรีมแอก หรือการปฎิรูปกฏหมายคนเข้าเมืองสหรัฐฯ และรวมไปถึงวิกฤตการอพยพเข้าเมืองผิดกฏหมายของผู้อพยพเด็กจากอเมริกากลางที่เดืนทางมาคนเดียวเกินครึ่งล้านคนมุ่งหน้าสู่พรมแดนทางใต้ของอเมริกา และส่งผลทำให้สังคมเรียกร้องให้โอบามาเข้มงวดกวดขันพรมแดนทางใต้ติดเม็กซิโกของประเทศให้มากกว่านี้