เอเจนซีส์ – แพทย์อินเดียซึ่งผ่าตัดทำหมันฟรีแก่ผู้หญิง 83 คนในเวลาเพียง 5 ชั่วโมงจนในที่สุดมีคนไข้เสียชีวิตไป 13 ราย ออกมาแก้ต่างให้ตนเองวันนี้(13)ว่า การผ่าตัดอย่างรวดเร็วเป็นจรรยาบรรณวิชาชีพ พร้อมกล่าวโทษ “ยาปลอมปน” ว่าเป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น
ดร. อาร์ เค คุปตะ ซึ่งอ้างว่าเคยผ่าตัดทำหมันให้คนไข้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 50,000 คน ยืนกรานปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้เครื่องมือที่สกปรกหรือเป็นสนิม และอ้างว่าการควบคุมจำนวนคนไข้ที่เข้ารับบริการใน “ค่ายวางแผนครอบครัว” เป็นหน้าที่ของรัฐบาล
“รัฐบาลต้องกำหนดว่าจะให้ผู้หญิงเข้ารับบริการทำหมันกี่ราย” นพ.คุปตะ ซึ่งอยู่ในอาการหัวเสียอย่างเห็นได้ชัด ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ที่สถานีตำรวจ หลังถูกควบคุมตัวและตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยประมาท
“ถ้ารัฐบาลส่งคนไข้มา 83 คน ก็เป็นหน้าที่ทางศีลธรรมของผมที่จะต้องผ่าตัดให้พวกเธอจนครบทุกคน ถ้าผมไม่ทำ ผมก็จะถูกสังคมติเตียนเอาได้” คุปตะ ซึ่งเคยได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติด้านการคุมกำเนิดจากรัฐบาลเมื่อ 10 ปีก่อน กล่าว
อินเดียเป็นประเทศที่มีการทำหมันหญิงมากที่สุดในโลก และมีนโยบายควบคุมจำนวนประชากรที่เข้มงวดเป็นรองจากจีน และแม้อัตราการเกิดจะลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปีมานี้ ทว่าอัตราการขยายตัวของพลเมืองอินเดียยังจัดว่าเร็วเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
นักเคลื่อนไหวชี้ว่า แต่ละปีจะมีชาวอินเดียเข้ารับการทำหมันกว่า 4 ล้านคน และระบบโควตาก็ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่และแพทย์ต้องพยายามทุ่นรายจ่ายและใช้เวลาให้น้อยที่สุด
คุปตะ เล่าว่า ผู้ช่วยแพทย์ได้จ่ายยาไซโปรฟล็อกซาซิน (ciprofloxacin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะ และไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ซึ่งเป็นยาระงับปวด ให้แก่สตรีที่เข้ารับการผ่าตัดทำหมันภายในห้องมืดสลัวของโรงพยาบาลเอกชนในหมู่บ้านปันดารี รัฐฉัตติสครห์
เขายืนยันว่า การผ่าตัดเป็นไปด้วยดี แต่ปัญหาอยู่ที่ยาซึ่งจ่ายให้คนไข้ไปรับประทานหลังจากนั้น
ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตจากการทำหมันหมู่ครั้งนี้แล้ว 13 ราย และอีกหลายสิบคนยังคงนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล บางรายอาการสาหัส
ทั้งนี้ ยังมีผู้หญิงบางคนที่ล้มป่วยหลังจากเข้ารับการผ่าตัดจากแพทย์คนอื่นที่ศูนย์ผ่าตัดแห่งอื่น ซึ่ง คุปตะ ได้ยกมาอ้างเป็นหลักฐานว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเขา
“ผมไม่ใช่คนผิด ผมเป็นแค่แพะรับบาป ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือรัฐบาลต่างหาก”
รัฐฉัตติสครห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของอินเดีย ได้ออกคำสั่งห้ามใช้ตัวยา 5 ล็อต และสำลีผ่าตัดอีก 1 ล็อต เมื่อวานนี้(12) จนกว่ากระบวนการสอบสวนจะสิ้นสุด ซึ่งยาที่ถูกห้ามใช้ยังรวมถึงไซโปรฟล็อกซาซินและไอบูโพรเฟนที่ผลิตในอินเดีย ชนิดเดียวกับที่จ่ายให้คนไข้ผ่าตัดของ นพ.คุปตะ
นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชี้ว่า โครงการทำหมันฟรีของรัฐบาลอินเดียมีการใช้เงินล่อให้สตรียอมรับการผ่าตัดโดยที่ไม่ทราบเลยว่าตนเองจะต้องเผชิญความเสี่ยงอะไรบ้าง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบก็ถูกกดดันให้ต้องทำยอดให้ได้ตามเป้า
ตามระเบียบแล้ว แพทย์จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 นาทีและไม่เกิน 30 นาทีในการผ่าตัดทำหมันคนไข้ 1 ราย แต่แพทย์ส่วนใหญ่ยอมรับกับรอยเตอร์ว่า พวกเขาผ่าตัดให้คนไข้ถึง 90 คนต่อวันจนเป็นเรื่องธรรมดา และไม่มีเวลาคำนึงถึงสุขอนามัยมากนัก
นพ.คุปตะ ชี้ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้เพียงพอ และต้องส่งคนมาดูแลทำความสะอาดคลินิก ซึ่งทางตำรวจเผยว่าอยู่ในสภาพ “สกปรก” ซอมซ่อ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใดเขาจึงไม่ร้องเรียน นพ.คุปตะ ก็ตอบว่า สภาพเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ และตัวเขาเองก็ไม่เคยละเลยเรื่องการทำความสะอาดเครื่องไม้เครื่องมือ
แพทย์ผู้นี้ยอมรับว่า ส่วนใหญ่เขาจะใช้เวลาผ่าตัดคนไข้ไม่เกินรายละ 2-5 นาที เพื่อให้ผู้ช่วยแพทย์ 2 คนมีเวลาทำความสะอาดมีดผ่าตัด ส่วนที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกล่าวหาว่าเขาใช้เครื่องมือเป็นสนิมนั้นไม่เป็นความจริง และเขาก็สวมถุงมือยางกับชุดกาวน์ตลอดเวลาด้วย
“ผมจะล้างเครื่องมือด้วยแอลกออฮอล์ก่อนนำมาใช้ใหม่ทุกครั้ง และถ้ารู้สึกว่าอันไหนใช้การไม่ดีผมก็จะเปลี่ยน ผมใช้มีดผ่าตัด 1 เล่มกับคนไข้ประมาณ 10 คน ส่วนคลิปหนีบผ้าก็จะต้องจุ่มแอลกอฮอล์ก่อนนำมาใช้ใหม่เหมือนกัน” คุปตะ เผย
ตำรวจระบุว่า ห้องที่ นพ.คุปตะ ใช้ผ่าตัดมีมีใยแมงมุมเกาะอยู่ตามผนังเต็มไปหมด และการผ่าตัดอย่างเร่งรีบทำให้แพทย์ไม่มีเวลาเปลี่ยนพลาสติกปูเตียงที่เปรอะเปื้อนเลือด
“เป็นเรื่องน่าแปลกมาก... ผมไม่เคยเจอปัญหาอย่างนี้มาก่อนเลย” นพ.คุปตะ กล่าวทิ้งท้าย