เอเอฟพี – หญิงชาวอินเดียเสียชีวิตไป 8 ราย และยังนอนโรงพยาบาลด้วยอาการขั้นวิกฤตอีกหลายสิบคน หลังเข้าร่วมโครงการ “ทำหมันฟรี” ซึ่งรัฐบาลอินเดียจัดขึ้นเพื่อควบคุมจำนวนประชากร เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเผยวันนี้(11)
ผู้หญิงกว่า 60 คนซึ่งเข้ารับการผ่าตัดทำหมันเมื่อวันเสาร์(8) ที่รัฐฉัตติสครห์ ทางตอนกลางของอินเดีย เริ่มแสดงอาการป่วยในช่วงสุดสัปดาห์ โดยมีอยู่ 24 รายที่ถึงขั้นป่วยหนัก
“หลังจากทำหมันแล้ว ผู้หญิงหลายคนมีความดันเลือดลดต่ำ อาเจียน และมีอาการผิดปกติอื่นๆ” ซอนมานี โบราห์ ข้าหลวงประจำเขตบิลาสปูร์ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งเต็นท์ทำหมัน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
“ตั้งแต่วันจันทร์(10) มีผู้หญิงเสียชีวิตไปแล้ว 8 คน และอีก 64 คนถูกนำส่งโรงพยาบาลหลายแห่ง”
เขายืนยันว่ารัฐบาลอินเดียจะเร่งตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุความผิดพลาด ในขณะที่ชาวบ้านพากันออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนนในเขตบิลาสปูร์วันนี้(11) เพื่อเรียกร้องให้รัฐเอาผิดกับแพทย์ผู้ผ่าตัด
รัฐบาลท้องถิ่นอินเดียมักจะตั้งเต็นท์ให้บริการทำหมันฟรีซึ่งถือเป็นนโยบายระดับชาติ โดยสตรีที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าตอบแทนคนละ 1,400 รูปี
เพื่อให้ได้จำนวนผู้ทำหมันตามเป้า บางรัฐถึงกับเอารางวัล เช่น รถยนต์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า มาเป็นสิ่งล่อใจให้แก่สามีภรรยาสมัครเข้าร่วมโครงการ
แม้จะเน้นความสมัครใจของประชาชน แต่นักสิทธิมนุษยชนชี้ว่า การจัดโครงการแบบมุ่งให้ได้จำนวนคนตามเป้าเป็นเหตุให้ผู้หญิงหลายคนถูกโน้มน้าวให้ทำหมันในสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ
เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐเบงกองตะวันตกถูกสังคมติเตียนอย่างหนัก หลังสถานีโทรทัศน์ได้เผยคลิปวีดีโอบันทึกภาพผู้หญิงที่เข้าโครงการทำหมันฟรีถูกทิ้งให้นอนสลบไสลอยู่กลางแจ้ง
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอธิบายว่า โรงพยาบาลที่ทำหมันแก่สตรีเหล่านี้ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะรองรับผู้ผ่าตัดจำนวนมากได้
หนังสือพิมพ์ อินเดียน เอ็กซ์เพรส รายงานว่า โครงการทำหมันที่รัฐฉัตติสครห์มีแพทย์ผ่าตัดเพียง 1 คนกับผู้ช่วยแพทย์ 1 คน ทำการผ่าตัดให้สตรีร่วมร้อยจนเสร็จสิ้นในเวลาเพียง 5 ชั่วโมง
“กรณีนี้ไม่ใช่การละเลย เขาเป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง แต่เราจะเร่งตรวจสอบว่าเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้น” อาร์.เค. ภันจ์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาวุโสประจำเขตบิลาสปูร์ ให้สัมภาษณ์กับ อินเดียน เอ็กซ์เพรส
เมื่อปี 2012 องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ ได้เรียกร้องให้อินเดียจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ที่เป็นอิสระ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถร้องเรียนหากถูกบีบบังคับ หรือได้รับบริการที่ไม่ได้มาตรฐานจากศูนย์รับทำหมันของรัฐ
ฮิวแมนไรต์วอตช์ ยังแนะให้รัฐบาลอินเดียจัดอบรมการคุมกำเนิดแก่พนักงานรัฐที่เป็นชาย เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดแก่ประชาชนได้ ทว่าข้อเสนอแนะก็ยังไม่ถูกนำไปปฏิบัติจริง
นโยบายวางแผนครอบครัวของอินเดียมักจะเน้นไปที่การคุมกำเนิดฝ่ายหญิง โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการทำหมันชายยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมภารตะ