xs
xsm
sm
md
lg

คาด “โอบามา” เยือนเอเชียทริปนี้ชืด ปักหมุดไปไม่ถึงไหน พันธมิตรมะกันหันไปเกรงใจปักกิ่งเพิ่มมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ
รอยเตอร์ - เดือนพฤศจิกายน 2011 ขณะที่การปฏิวัติ “อาหรับ สปริง” กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม และยุโรปเผชิญวิกฤตหนี้สิน ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เดินทางสู่เอเชียเพื่อโปรโมทนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” โดยฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้น ประกาศในเวลาไล่เลี่ยกันว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็น “ศตวรรษแห่งแปซิฟิกของอเมริกา”

ในวันอาทิตย์ (9 พ.ย.) โอบามากลับมาเอเชียอีกครั้ง ขณะที่นโยบายปักหมุดเอเชียเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เป็นต้นว่า สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงระยะ 10 ปีในการส่งกองกำลังขนาดใหญ่ไปประจำการในฟิลิปปินส์, เพิ่มการกระชับสัมพันธ์ด้านกลาโหมกับออสเตรเลียและอินเดีย, ผ่อนคลายข้อห้ามการขายอาวุธร้ายแรงให้เวียดนาม เพื่อให้ฮานอยยกระดับความสามารถในการรักษาความปลอดภัยทางทะเล

กระนั้นขณะที่อเมริกาพยายามขยายผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้เพื่อคานอำนาจจีนที่กำลังแผ่อิทธิพลบารมีกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ กลับปรากฏว่าพันธมิตรบางชาติของสหรัฐฯกลับเริ่มเต็มใจน้อยลงที่จะท้าทายปักกิ่ง ซึ่งอาจหมายความว่าพญามังกรจะสามารถอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ที่อุดมด้วยทรัพยากรได้อย่างเสรียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในอเมริกาเอง ความพ่ายแพ้ของพรรคเดโมแครตของเขาในการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (4) ที่หลายคนโทษว่า เป็นเพราะประชาชนเอือมระอาโอบามา ยังทำให้สถานะในการเจรจาของผู้นำสหรัฐฯ กับจีนหรือกับพันธมิตรในเอเชีย ไม่มั่นคงหนักแน่นอย่างที่เคยเป็น และโอบามายังมีช่องทางพลิกแพลงนโยบายต่างประเทศลดน้อยลงด้วย หลังจากพรรครีพับลิกันพาเหรดเข้ายึดทั้งสภาล่างและสภาสูง ตลอดจนเป้าหมายทางการเมืองในวอชิงตันก็กำลังเบนไปเน้นที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในอีกสองปีข้างหน้า

ถึงแม้ยังมีหลายประเทศเอเชีย โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และเวียดนาม ยังคงต้องการกระชับสัมพันธ์กับอเมริกาเพื่อให้ช่วยปกป้องจากความก้าวร้าวของจีนในการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนเหนือทะเลจีนใต้ แต่พันธมิตรเก่าแก่ชาติอื่นๆ กลับดูเหมือนเอาใจออกห่างจากวอชิงตันมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญคือ อิทธิพลทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทุกทีๆ ของจีน เป็นต้นว่า มูลค่าการค้าระหว่างเอเชียอาคเนย์กับจีนเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัวจากเมื่อทศวรรษที่แล้วเป็น 350,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2020
(แฟ้มภาพ) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างเยือนพระราชวังต้องห้าม ในกรุงปักกิ่ง (17 พ.ย. 09)
อินโดนีเซีย พันธมิตรของสหรัฐฯ ที่เข้มแข็งและมีบทบาทนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตลอด ส่งสัญญาณว่า จะเพลานโยบายต่างประเทศที่เคยเน้นการดำเนินการระหว่างประเทศ และหันมามุ่งเน้นกิจการภายในแทน ตามที่ โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีผู้ขึ้นรับตำแหน่งใหม่ๆ หมาดๆ ได้หาเสียงเอาไว้

เกร็ก ฟีลี ผู้เชี่ยวชาญอินโดนีเซีย ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ชี้ว่า ไม่มีแนวโน้มที่วิโดโดจะลงมือทำอะไรในกรณีทะเลจีนใต้ เว้นแต่มีวิกฤตการณ์เกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า อเมริกามีตัวช่วยน้อยลง

สำหรับไทย การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้สั่นคลอนความสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่กับอเมริกา และนับจากนั้นวอชิงตันก็ได้ลดการติดต่อทางการทูต รวมถึงลดการซ้อมรบร่วมกับกองทัพไทย

ส่วนมาเลเซียที่ถึงวาระรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า ก็กำลังตั้งหน้าตั้งตาค้าขายกับจีนอย่างขะมักเขม้น และกำลังร่วมกับปักกิ่งยกระดับข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน

โจเซฟ เหลียว ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบันบรูคกิ้งส์ในวอชิงตัน ชี้ว่า อเมริกามีเหตุผลพอเพียงที่จะกังวลว่า อาเซียนจะยืนหยัดปกป้องจีนหรือไม่

ระหว่างการเยือนเอเชียครั้งนี้ โอบามาจะเข้าร่วมประชุมซัมมิตความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่ปักกิ่งในวันที่ 10-11 และร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมซัมมิตอาเซียนที่พม่าในวันที่ 13 แต่นัดหมายสำคัญที่สุดน่าจะเป็นการเจรจากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ในวันที่ 11-12
(แฟ้มภาพ) ประธานาธิบดี โอบามา และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ถ่ายภาพร่วมกันตอนที่สองผู้นำเดินทางเข้าร่วมประชุมซัมมิตกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี 20  ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (6 ก.ย. 13)
กำลังโหลดความคิดเห็น