เอเอฟพี - องค์การชำนาญการด้านผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติระบุวันนี้ (4 พ.ย.) ว่าในปัจจุบันมีประชากรไร้สัญชาติอยู่ทั่วโลกมากถึง 10 ล้านคน คนเหล่านี้ถูกปล่อยให้อยู่ในสภาวะไม่มั่นคงทางกฎหมาย องค์การนี้จึงเริ่มเคลื่อนไหวรณรงค์ โดยตั้งเป้ากำจัดสถานะบุคคลไร้รัฐให้หมดไปภายใน 1 ทศวรรษ
อันโตเนียว กูเตร์เรส ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่นครเจนีวาว่า “ทุกๆ 10 นาทีจะมีเด็กคนหนึ่งเกิดมาเป็นคนไร้สัญชาติ” พร้อมกับชี้ว่า สถานการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ “ยอมรับไม่ได้อย่างแท้จริง” และเป็นเรื่องผิดธรรมดาในศตวรรษที่ 21
ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) มุ่งหวังให้โครงการรณรงค์ที่มีชื่อว่า “I Belong” สะท้อนให้เห็นถึงผลพวงของการเป็นคนไร้รัฐที่จะส่งผลร้ายไปยาวนานชั่วชีวิต” และหมายผลักดันให้ประเทศต่างๆ ให้แก้ไขกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าจะไม่ใครไม่ได้รับสัญชาติ”
องค์การนี้ระบุในรายงานว่า “บ่อยครั้ง ที่พบว่า พวกเขาถูกผลักไสไล่ส่งนับตั้งแต่นอนเปลจนกระทั่งดินกลบหน้า คนกลุ่มนี้ถูกปฏิเสธสถานภาพทางกฎหมายตั้งแต่ตอนเกิด ถูกตัดโอกาสทางการศึกษา การรักษาพยาบาล การแต่งงาน และโอกาสในหน้าที่การงานขณะมีชีวิต และไม่มีกระทั่งสิทธิที่จะจัดพิธีฝังศพอย่างเป็นทางการ และตายไปโดยไม่มีการออกใบมรณบัตร”
กูเตร์เรสกล่าวว่า “การเป็นคนไร้สัญชาติทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เพียงแค่พวกเขามีชีวิตอยู่ก็ถือเป็นอาชญากรรมแล้ว”
มีเหตุผลมากมายหลายประการที่ทำให้ คนเรากลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากเป็นคนต่างชาติพันธุ์ ศาสนา และต่างเพศภาวะ หรือเมื่อประเทศล่มสลาย นอกจากนี้ บ่อยครั้งสงครามและความขัดแย้งยังทำให้การจดทะเบียนรับรองการเกิดเป็นเรื่องยาก
กูเตร์เรส ระบุว่า การที่รายงานฉบับนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงกรณีชาวปาเลสไตน์ เนื่องจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติให้การรับรองปาเลสไตน์ในสถานะรัฐ
เขากล่าวว่า ปัญหาของชาวปาเลสไตน์จำนวนมากถึง 4.5 ล้านคนในเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา ตลอดจนคนหลายล้านคนที่อยู่อาศัยในฐานะผู้ลี้ภัยทั่วโลกก็คือ ปาเลสไตน์ยังต้องรอการอนุมัติกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ พร้อมกับเน้นย้ำว่า จำเป็นต้องมีการหา “ทางออกทางการเมือง” ให้แก่ “สถานการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวมาก” เช่นนี้
กูเตร์เรสชี้ว่า พม่าเป็นชาติที่มีบุคคลไร้สัญชาติอาศัยอยู่มากที่สุด โดยประเทศนี้ปฏิเสธที่จะมอบสัญชาติให้แก่ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 1 ล้านคน
พม่าพิจารณาว่า ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากบังกลาเทศอย่างผิดกฎหมาย ขณะที่บังกลาเทศก็มองว่า คนกลุ่มนี้เดินทางข้ามพรมแดนพม่าเข้ามาในประเทศของตนอย่างผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มองว่าชาวโรฮิงญาในทั้งสองประเทศ เป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ที่ถูกข่มเหงมากที่สุดในโลก เนื่องจากต้องเผชิญทั้งจำกัดสิทธิในมากมายหลายด้าน เช่นถูกควบคุมการเดินทาง ตัดสิทธิในการศึกษา และการกีดกันไม่ให้แต่งงาน
เมื่อประเทศล่มสลาย พลเมืองจะตกอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงอยู่บ่อยครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ประชากรกว่า 600,000 คนถูกปล่อยให้อยู่ในสถานะคนไร้รัฐ หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว
ในยามที่เกิดสงคราม ความขัดแย้ง และความสับสนอลหม่าน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะทำเรื่องขอจดทะเบียนเกิดให้บุตรได้ยากลำบาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้ลี้ภัย เป็นผลให้เด็กที่เกิดมากลายเป็นคนไร้สัญชาติ
กูเตร์เรส ได้ยกตัวอย่างกรณีที่มีเด็กๆ ชาวซีเรียซึ่งถือกำเนิดระหว่างพ่อแม่ลี้ภัยในเลบานอนและจอร์แดนถึง 70 เปอร์เซ็นต์เต็มๆ ยังไม่มีสูติบัตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ยูเอ็นเอชซีอาร์ เตือนว่า ประเทศจำนวนมาก เช่น อิหร่าน และกาตาร์ ห้ามลูกถือสัญชาติเดียวกับมารดาที่เป็นพลเมืองของตน หากบิดาของเด็กๆ ไม่ใช่พลเมืองของทั้งสองประเทศ “สถานการณ์นี้สามารถสร้างห่วงโซ่ของความเป็นคนไร้รัฐ ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น”
*** “ความไร้รัฐคือความไร้มนุษยธรรม ***
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ซึ่งอาจเป็นคนไร้สัญชาติผู้โด่งดังที่สุดในโลก ตกอยู่ในสถานะบุคคลไร้รัฐตั้งแต่ปี 1896 เมื่อเขาสละสัญชาติเยอรมัน จนถึงปี 1901 เมื่อเขาได้รับสถานะพลเมืองสวิตเซอร์แลนด์
ในจดหมายเปิดผนึก กูเตร์เรส, แองเจลินา โจลี ดาราดังฮอลลีวูดซึ่งเป็นทูตพิเศษของยูเอ็นเอชซีอาร์, เจ้าชาย เซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ชิริน เอบาดี และเดสมอน ตูตู เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ตลอดจนคนอื่นๆ ได้ร่วมกันให้คำนิยามของ การมีชีวิตอยู่โดยปราศจากสัญชาติในมุมมองของพวกเขา
หนังสือเปิดผนึกฉบับนี้ระบุว่า “การเป็นบุคคลไร้รัฐนั้นอาจหมายถึงชีวิตที่ไร้การศึกษา ไม่มีโอกาสเข้าถึงรักษาพยาบาล หรือได้รับการว่าจ้างอย่างถูกกฎหมาย ... การไร้สัญชาตินั้นอาจหมายถึงความไร้มนุษยธรรม เราเชื่อว่า ถึงเวลาหยุดยั้งความอยุติธรรมนี้แล้ว”
ทั้งนี้ การรณรงค์ “I belong” มุ่งเชิญชวนคน 10 ล้านคนร่วมกันลงชื่อในคำร้อง เพื่อพยายามขจัดสถานะบุคคลไร้สัญชาติให้หมดไปในอีก 10 ปีข้างหน้า
ยูเอ็นเอชซีอาร์ ประกาศข่าวที่น่ายินดีว่า หนทางแก้ไขปัญหานี้ได้ก้าวหน้าไปมาก โดยในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา มีบุคคลไร้รัฐได้รับสัญชาติมากกว่า 4 ล้านคน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย และการเมือง
ตัวอย่างของความคืบหน้าดังกล่าวคือ เมื่อปี 2008 ศาลในบังกลาเทศได้ตัดสินให้ประชากรที่สื่อสารด้วยภาษาอูรดูและมีสถานะไร้สัญชาติ 300,000 คนได้รับสถานภาพพลเมืองบังกลาเทศ