xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานต่างด้าวเลี่ยงประกันสุขภาพ เหตุไร้การบังคับ ทำ รพ.แบกค่าใช้จ่ายอ่วม แนะตรวจฟรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิจัยพบแรงงานต่างด้าวมีประกันสุขภาพน้อยราย และไม่มีการบังคับการซื้อประกันสุขภาพ เอื้อหลีกเลี่ยงการประกันตน ส่งผลโรงพยาบาลแบกรับภาระค่ารักษา จี้การประกันต้องมีสภาพบังคับตามกฎหมาย ห่วงกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว สธ. เสี่ยงล้ม จากสถานะทางการเงิน เหตุรายจ่ายเพิ่มขึ้น รายรับลดลง แนะกำหนดนโยบายชัดเจน ตรวจสุขภาพฟรี เพราะเป็นการส่งเสริมป้องกันโรค

วันนี้ (6 ก.ค.) ที่โรงแรมริชมอนด์ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวในการเสวนาวิชาการ “จับตา...ทิศทางประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว” จัดโดย มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย (ภวส.) ร่วมกับสำนักข่าว Hfocus (เอชโฟกัส) : เจาะลึกระบบสุขภาพ ว่า คนต่างด้าวแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มชนชาติ ชนกลุ่มน้อย กลุ่มคนไร้รัฐ คนไทยพลัดถิ่น จีนฮ้ออพยพ คนไทยอพยพ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 กลุ่มที่ได้รับสิทธิในการอยู่ในประเทศไทยถาวร 2. กลุ่มคนไร้สัญชาติ คนเร่ร่อน คนพิการ คนไทยตกหล่น 3. แรงงานต่างด้าวทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน และ 4. ผู้ลี้ภัย คนพลัดถิ่น โดยทั้งหมดนี้จะทำอย่างไรให้สามารถดูแลด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ได้รับบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และเสียภาษีให้กับประเทศ

อยากเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลทุกคนในประเทศไทย ทั้งที่มีการขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยมีหนังสือสั่งการไปยังหน่วยบริการทุกแห่งต้องรับดูแล หากปฏิเสธถือว่ามีความผิด โดยจัดระบบบริการที่ง่ายต่อการเข้าถึง ราคาถูก และบางกรณีให้ฟรี ไม่เก็บค่าตรวจสุขภาพ เช่นเดียวกับระบบประกันสุขภาพของคนไทย เพราะคนบางคนเขาไม่มีเงิน โดยให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้การบริการเชิงรุก ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแรงงานหรือนายจ้างอย่างเดียว ทั้งนี้ หากดำเนินการได้ดีจะเป็นการตัดขบวนการนายหน้าที่ทำให้มีปัญหาค่าใช้จ่ายสูง และปัญหาการค้ามนุษย์” นายสุรพงษ์ กล่าว

ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า จากผลการศึกษา “รูปแบบและการดำเนินการด้านสุขภาพที่เหมาะสมของกองทุนระบบประกันสุขภาพต่างด้าวในประเทศไทย” พบว่า กองทุนฯ อยู่ในสถานการณ์ที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ คือมีรายรับมากกว่ารายจ่ายในการให้บริการสุขภาพ แต่ที่น่าสนใจคือ รายจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่วนอัตราการขายบัตรประกันสุขภาพกลับลดลง โดยปี 2554 ขายบัตรประกันฯ ได้ 819 ล้านบาท แต่ปี 2555 จำหน่ายได้เพียง 297 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 260 ล้านบาท แม้รายรับจะมากกว่ารายจ่าย แต่เห็นได้ชัดว่ารายรับจากการขายบัตรประกันฯ ลดลงเรื่อยๆ อาจทำให้มีปัญหาสถานะทางการเงินในอนาคตได้

ภญ.อุษาวดี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า พฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพของแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรไทย อาจพิจารณาได้ว่ามีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการคือ แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามมีประกันสุขภาพในอัตราที่ต่ำ สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านแรงงาน และด้านการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว การไม่ทราบจำนวนแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่แท้จริง การไม่มีสภาพบังคับในการซื้อประกันสุขภาพ และช่องว่างของการพิสูจน์สัญชาติและการเข้าสู่ระบบประกันสังคม ทำให้เกิดช่องว่างในการหลีกเลี่ยงการประกันตนและซื้อบัตรประกันฯ ส่งผลให้โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่ยังไม่มีสิทธิสวัสดิการ

“ดังนั้น ต้องทำให้การประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามมีสภาพบังคับตามกฎหมาย ไม่เป็นแบบสมัครใจเหมือนปัจจุบัน โดยกำหนดให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม ต้องมีหลักประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องจัดให้เข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมาย และ สธ. ต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการจัดทำระบบฐานข้อมูล ระบบการลงทะเบียนต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานบริการสุขภาพให้แก่แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม” ภญ.อุษาวดี กล่าว

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า สธ. และกระทรวงแรงงานควรยกเลิกการเก็บค่าตรวจสุขภาพ เพราะถือเป็นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ไม่ควรให้เป็นภาระของแรงงาน ต้องทบทวนโครงสร้างการจัดการทั้งหมด การเปลี่ยนนโยบายบ่อยก่อให้เกิดความสับสนทั้งในส่วนของหน่วยบริการ และผู้ซื้อบัตรประกันสุขภาพ อีกทั้งเวลาไปรับการรักษาจริงไม่ได้รับสิทธิตามนั้น

ด้าน นางหิรัญญา ปะดุกา กลุ่มประกันสุขภาพ สธ. กล่าวว่า ทิศทางตอนนี้ สธ.มีนโยบายที่แบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกคือการขายบัตรประกันฯให้ครอบคลุม และตั้งกองทุนแรงงานต่างด้าว เพื่อดูแลแรงงานต่างด้าวได้สะดวกและครอบคลุม ระยะที่ 2 จะหารือกับสำนักงานประกันสังคมถึงความเป็นไปได้ในการเอาแรงงานต่างด้าวให้มาอยู่ในการดูแลของ สธ. และให้ทำบัตรประกันสุขภาพภาคบังคับ และระยะที่ 3 ให้มีกฎหมายบังคับซึ่งอาจจะมีการพิจารณาไปถึงการดูแลแรงงานต่างด้าวที่มากกว่า 3 สัญชาติ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ส่วนข้อเสนอว่าไม่ควรเก็บค่าตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว ในทางปฏิบัติสามารถทำได้ แต่รัฐต้องให้การสนับสนุนงบประมาณ เพราะตรงนี้ก็มีค่าใช้จ่าย พอเริ่มซื้อบัตรประกันสุขภาพค่าใช้จ่ายก็เกิดขึ้นแล้ว ถ้าคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์คิดว่าไม่คุ้ม แค่เป็นหวัดไปหาโรงพยาบาลก็เสียค่าใช้จ่ายอย่างต่ำ 500 บาท และถ้าต้องนอนโรงพยาบาลค่าใช้จ่ายจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยก็มีโรคเช่นเดียวกับคนไทย ทั้งมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูงอย่างกรณีการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 2 - 3 พันบาทต่อคน ต่อเดือน บางคนเป็นโรคดื้อยาจะยิ่งมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น” นางหิรัญญา กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น