เอเอฟพี – บิล เกตส์ มหาเศรษฐีใจบุญชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ ประกาศจะมอบเงินบริจาคกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อต่อสู้โรคมาลาเรียและโรคติดต่ออื่นๆ ในประเทศกำลังพัฒนา พร้อมชี้ว่าการระบาดของไวรัสอีโบลาเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกฝ่ายต้องวางแผนรับมือวิกฤตสาธารณสุข
อดีตซีอีโอไมโครซอฟต์ได้แถลงต่อที่ประชุมสมาคมการแพทย์เขตร้อนและสาธารณสุขแห่งอเมริกา (American Society of Tropical Medicine and Hygiene) ครั้งที่ 63 ณ เมืองนิวออร์ลีนส์ โดยระบุว่า มูลนิธิ บิล เกตส์ ของเขาจะมอบเงินบริจาคกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014 “เพื่อลดผลกระทบของไข้มาลาเรีย โรคปอดบวม โรคท้องร่วง และโรคติดต่อที่เกิดจากปรสิตต่างๆ ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตและการเสื่อมสมรรถภาพของประชากรในประเทศกำลังพัฒนา”
นอกจากคำมั่นสัญญาดังกล่าวแล้ว มูลนิธิของ เกตส์ ยังบริจาคเงินเพื่อต่อต้านเชื้อมาลาเรียเพิ่มขึ้นอีก 30% ด้วย
เกตส์ ชี้ว่า ไวรัสอีโบลาซึ่งได้คร่าชีวิตพลเมืองในแอฟริกาตะวันไปกว่า 4,900 คนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ถือเป็น “ช่วงเวลาวิกฤตในประวัติศาสตร์สาธารณสุขโลก” และการระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดนี้ยังย้ำเตือนให้ทั่วโลกต้องหาวิธีสกัดกั้นโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ เช่น เชื้อมาลาเรียดื้อยา และไข้เลือดออก เป็นต้น
“การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาได้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่า ในโลกปัจจุบันซึ่งมีการติดต่อเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดในสถานที่แห่งหนึ่งอาจแพร่กระจายไปยังทุกๆ ที่ได้ ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดที่เราจะเอาชนะภัยคุกคามเหล่านี้ก็คือ อุทิศตัวเราเองเพื่อต่อสู้โรคติดต่อซึ่งกำลังเป็นภาระหนักอึ้งของโลก”
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิ บิล เกตส์ ก็ได้มอบเงินบริจาค 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้ออีโบลา
สำหรับเงินบริจาค 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ เกตส์ แถลงเมื่อวานนี้(2) ประกอบด้วยวงเงินกว่า 150 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนโครงการ PATH Malaria Vaccine Initiative ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาวัคซีนต้านมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพสูง และอีก 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าโครงการ Clinton Health Access Initiative ซึ่งจะส่งเสริมการป้องกันเชื้อมาลาเรียในภูมิภาคแอฟริกาใต้และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วงเงิน 49 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะถูกมอบให้โครงการ PATH Vaccine Solutions เพื่อผลิตวัคซีนชนิดใหม่ๆ รวมถึงวัคซีนต่อต้านโรคท้องร่วง และอีก 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะมอบแก่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมริแลนด์เพื่อศึกษาผลกระทบของวัคซีนต้านไวรัสโรตาที่มีต่อสุขภาพของเด็กๆ ในมาลี เคนยา และแกมเบีย
สำหรับวงเงินที่เหลือจะใช้เพื่อขจัดโรคติดต่อชนิดอื่นๆ ที่หลายคนยังมองข้าม รวมถึงวงเงิน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อคิดค้นวิธีรักษาโรคเท้าช้าง (elephantiasis) โรคเหงาหลับ (human African trypanosomiasis) และโรคลิชมาเนีย (visceral leishmaniasis)