รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเผชิญวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่ เมื่อรัฐมนตรีหน้าใหม่ที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เลือกเฟ้นกับมือถูกบีบให้ลาออกพร้อมกันทีเดียวถึง 2 คน เหตุเพราะถูกแฉพฤติกรรมใช้เงินทุนสนับสนุนทางการเมืองไปในทางมิชอบ ฉุดคะแนนนิยมรัฐบาลพรรคแอลดีพีทรุดฮวบ ขณะที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” ก็ถูกฝ่ายค้านโจมตีว่าไม่ขลังสมราคาคุย
การสูญเสียรัฐมนตรีพร้อมกันถึง 2 คนนับเป็นมรสุมลูกใหญ่ที่สุดสำหรับรัฐบาล อาเบะ ซึ่งเข้าบริหารประเทศตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2012 และอาจทำให้ผู้นำญี่ปุ่นต้องคิดหนักว่าสมควรจะเดินหน้าผลักดันนโยบายสำคัญๆ อย่างเช่น การปรับขึ้นภาษีการขาย และการเปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ถูกพักงานยาวมาตั้งแต่เกิดวิกฤตรังสีที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะเมื่อปี 2011 หรือไม่
โยมิอุริชิมบุนซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันหัวใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นได้สอบถามความเห็นประชาชน 1,059 คนทางโทรศัพท์ระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคมที่ผ่านมา และพบว่าภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน ความนิยมในรัฐบาลอาเบะลดฮวบจากร้อยละ 62 ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 53
บรรดาผู้ตอบแบบสอบถามของโยมิอุริร้อยละ 37 ยอมรับว่า พวกเขาไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30 ในการทำโพลครั้งก่อนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนผลกระทบชัดเจนจากพฤติกรรมอื้อฉาวของรัฐมนตรีหน้าใหม่ที่ อาเบะ ดึงมาร่วมรัฐบาล หนึ่งในนั้นคือ ยูโกะ โอบูจิ บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งตัดสินใจลาออกจากเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม หลังมีข่าวแพร่สะพัดว่าองค์กรระดมทุนเพื่อสนับสนุนทางการเมืองของเธอนำเงินบริจาคกว่า 10 ล้านเยนไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย เช่น ซื้อเครื่องสำอางและข้าวของกระจุกกระจิกที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วง 5 ปี จนกระทั่งถึงปี 2012
โยมิอุริ พบว่า ชาวญี่ปุ่นที่ตอบแบบสอบถามร้อยละ 73 เห็นด้วยที่ โอบูจิ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก
ในวันเดียวกันนั้นเอง มิโดริ มัตสุชิมา รัฐมนตรีหญิงผู้คุมกระทรวงยุติธรรม ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกเป็นรายที่สอง หลังถูกร้องเรียนว่าละเมิดกฎหมายเลือกตั้งด้วยการแจกพัด “อุจิวะ” ให้แก่ผู้สนับสนุน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายซื้อเสียง
มัตสุชิมา ยังถูกกล่าวหาว่าสั่งให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของทางการไปปฏิบัติงานที่บ้านพักส่วนตัวในกรุงโตเกียว ทั้งที่ตัวเธอเองอาศัยอยู่ในบ้านที่ทางรัฐสภาจัดให้
โอบูจิ และ มัตสุชิมา อยู่ในกลุ่มรัฐมนตรีหญิง 5 คนที่ อาเบะ ตั้งให้คุมกระทรวงสำคัญๆ เมื่อเดือนกันยายน โดยหวังจะดึงคะแนนนิยมจากสตรีญี่ปุ่นที่ต้องการเห็นบทบาทของผู้หญิงในแวดวงการเมือง
อาเบะ พยายามบรรเทาผลกระทบโดยรีบสรรหาบุคคลมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวงใหม่ทันที แต่แล้วกลับมีข่าวออกมาอีกว่า อากิโนริ เอโตะ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, โกยะ นิชิกาวา รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร และ ยาสุฮิสะ ชิโอซากิ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ล้วนแต่มีพฤติกรรมใช้จ่ายเงินทุนนอกลู่นอกทางเช่นกัน
ล่าสุด โยอิจิ มิยาซาวา ซึ่งถูกดึงเข้ามาเสียบเก้าอี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมแทนที่ โอบูจิ ก็ออกมายอมรับว่า เจ้าหน้าที่บางคนในสำนักงานของเขาเคยนำเงินหลวงไปเที่ยวบาร์สนองรสนิยมทางเพศแบบซาดิสต์-มาโซคิสต์ที่เมืองฮิโรชิมา โดยบันทึกลงในบัญชีว่าเป็น “รายจ่ายเพื่อความบันเทิง”
มิยาซาวา ยังถือหุ้นในบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) ผู้บริหารโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรม ที่เขาเองเป็นเจ้ากระทรวงอยู่
ข่าวอื้อฉาวของรัฐมนตรีหน้าใหม่กลายเป็นโอกาสดีสำหรับพรรคฝ่ายค้าน เดโมเครติก ปาร์ตี ออฟ เจแปน (ดีพีเจ) ซึ่งเคยพ่ายแพ้ต่อ อาเบะ อย่างราบคาบในศึกเลือกตั้งเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว แต่ถึงอย่างไรเสียพรรคของ อาเบะ ก็ยังกุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาไว้ได้ และอาจไม่จำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งก่อนหมดวาระในปี 2016
พรรคดีพีเจประกาศกร้าวว่าจะตามแฉพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐมนตรีในครม. อาเบะ รวมถึงโจมตีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” ว่าเป็นความล้มเหลว
ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการพรรคดีพีเจ ระบุว่า ลูกพรรคของเขายังมี “ข้อมูลเด็ด” อีกมากที่พร้อมจะแฉ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าข่าวที่ออกมาจะกระเทือนรากฐานของรัฐบาลอาเบะมากน้อยเพียงใด
“ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้กระทบต่อชื่อเสียงของรัฐบาลโดยตรง... เราต้องการเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ว่า พรรคแอลดีพีเคยเป็นอย่างไรก็อย่างนั้น ไม่เคยเปลี่ยน” เอดาโนะ กล่าว
แม้โพลทุกสำนักจะระบุตรงกันว่าคะแนนนิยมของ อาเบะ ลดน้อยลง ทว่าตัวเลขก็ยังคงเกิน 50%
ด้วยตระหนักดีว่า การตั้งหน้าตั้งตาแฉพฤติกรรมทุจริตอาจทำให้คนรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะญี่ปุ่นยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญกว่าและรอการแก้ไขอยู่ ดังนั้น เอดาโนะ จึงยืนยันว่า พรรคของเขาจะเน้นเปิดโปงข้อผิดพลาดของอาเบะโนมิกส์ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน การใช้จ่ายงบประมาณก้อนโต และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่างๆ
เอดาโนะ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในช่วงที่เกิดวิกฤตฟูกูชิมะใหม่ๆ และต่อมายังได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรม ชี้ว่า ยุทธศาสตร์กระตุ้นการเติบโตของ อาเบะ ปรากฏสัญญาณความล้มเหลวให้เห็นแล้ว และหาก อาเบะ ตัดสินใจชะลอมาตรการขึ้นภาษีการขายในปีหน้าออกไปก็จะเท่ากับยอมรับความพ่ายแพ้ในเชิงนโยบาย
“หากรัฐบาลไม่ขึ้นภาษีการขายตามกำหนด ทั้งๆ ที่อ้างว่าอาเบะโนมิกส์ประสบความสำเร็จดี สถานการณ์จะยิ่งย่ำแย่เข้าไปใหญ่” เอดาโนะ กล่าว
กฎหมายที่ญี่ปุ่นประกาศใช้ในปี 2012 กำหนดให้ขึ้นภาษีการขายเป็น 10% ภายในเดือนตุลาคม ปี 2015 เพื่อให้รัฐบาลนำรายได้มาลดภาระหนี้สาธารณะที่สูงถึง 200% ของจีดีพี ทว่าการขึ้นภาษีก็สามารถเลื่อนออกไปก่อนได้ หากเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะซบเซาเกินไป
ผลโพลหลายสำนัก พบว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษี