เอเจนซีส์ - อดีตผู้ว่าทบวงการเงินฮ่องกงและปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาแบงก์ชาติจีน ออกมาเตือนในวันพุธ (29 ต.ค.) ว่า ปักกิ่งอาจลงโทษฮ่องกงด้วยการหันไปใช้บริการศูนย์กลางการเงินแห่งอื่นและลดนโยบายสนับสนุนเขตบริหารพิเศษแห่งนี้ ถ้าหากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยยังคงยืดเยื้อต่อไป ขณะที่รัฐมนตรีคลังฮ่องกงก็ขานรับโดยชี้ว่าในระยะยาว นักลงทุนทั้งในและนอกอาจขาดความเชื่อมั่น อย่างไรก็ดี ด้านผู้ชุมนุมเกือบ 90% ลั่นพร้อมปักหลักสู้นานเกินปีจนกว่าจะได้ชัยชนะ
โจเซฟ ยัม รองประธานบริหารของ ไชน่า โซไซตี ฟอร์ ไฟแนนซ์ แอนด์ แบงกิ้ง ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของธนาคารกลางจีน และเป็นอดีตผู้ว่าของทบวงการเงินฮ่องกง (HKMA) ซึ่งก็คือธนาคารกลางฮ่องกงในทางพฤตินัย กล่าวว่า ความมั่งคั่งของฮ่องกงสร้างขึ้นจากการแสดงบทบาทเป็นคนกลางระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเงิน
“เมื่อคนกลางผู้นี้กลับแสดงท่าทีไม่ให้ความร่วมมือ, ไว้วางใจไม่ได้ และกำลังสร้างปัญหา แน่นนอนทีเดียวว่าแผ่นดินใหญ่ก็จะลดการพึ่งพาอาศัย หันไปเริ่มต้นใหม่ยังสถานที่อีกแห่งหนึ่ง กลายเป็นการอาศัยสถานที่ 2 แห่งในการทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ และลดนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษแก่ฮ่องกงท่ามกลางกระบวนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ” ยัมแจกแจง พร้อมเรียกร้องให้นักศึกษายุติการชุมนุมประท้วง
คำเตือนของเขามีขึ้นหลายชั่วโมงก่อนที่สภาปรึกษาการเมืองของประชาชนจีนในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นสภาที่ปรึกษาสูงสุดของจีน ลงมติขับ เจมส์ เถียน เป่ยชุน ออกจากการเป็นสมาชิกสภา สืบเนื่องจากเขาออกมาเรียกร้องให้ เหลียง ชุนอิง ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เถียน ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงฝ่ายนิยมปักกิ่ง ได้ออกมาแถลงว่าเขาแสดงบทบาทไม่ถูกต้อง พร้อมกับระบุว่าเขาจะลาออกจากการเป็นผู้นำพรรคลิเบอรัลปาร์ตี้ ของฮ่องกงด้วย
ก่อนหน้านี้ นักธุรกิจทรงอิทธิพลของฮ่องกงหลายคนก็เคยเตือนว่า การประท้วงจะคุกคามเสถียรภาพการเงินของเกาะแห่งนี้ ถึงแม้หลังจากนั้นบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่นิ่งเฉยก็ตามที
คำเตือนของยัม ยังมีขึ้นไล่เลี่ยกับที่เค.ซี. ชาน รัฐมนตรีบริการการเงินและการคลังของฮ่องกง แถลงต่อสภานิติบัญญัติว่า ระบบการเงินของฮ่องกงยังเป็นปกติดี และไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า เงินทุนไหลออกผิดสังเกต
“เราไม่มีข้อมูลมากพอที่จะประเมินผลกระทบจากการประท้วงที่มีต่ออุตสาหกรรมการเงินของฮ่องกงในระยะกลางและระยะยาวได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตาม การประท้วงที่ยืดยื้อย่อมส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในและนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับตลาดการเงินของเรา”
ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศจีนได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของหลี่ จิ่นจาง เอกอัครราชทูตในบราซิล ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของบราซิล ซึ่งระบุว่า การประท้วงในฮ่องกงไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาวฮ่องกง และเป็นเพียงปาหี่ที่กำลังจะล้มเหลว
“วันนี้ เรามาถึงจุดที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเข้าเคลียร์พื้นที่” หลี่กล่าว
ทั้งนี้ ชาวฮ่องกงนับหมื่นออกมาชุมนุมบนท้องถนนในช่วงที่กระแสการประท้วงพุ่งพล่านเพื่อร่วมกันเรียกร้องประชาธิปไตย แม้ระยะหลังจำนวนคนเริ่มบางตาจนเหลือไม่กี่ร้อยคน แต่ยังมีผู้ชุมนุมกางเต็นท์กระจัดกระจายในพื้นที่ชุมนุมหลักๆ
นอกจากนั้น จากการสำรวจสอบถามของสำนักข่าวรอยเตอร์พบว่า ผู้ชุมนุมเกือบ 9 ใน 10 ระบุว่าพร้อมปักหลักยืดเยื้อนานเกินปีเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยเต็มใบ
ผลสำรวจอย่างไม่เป็นทางการที่รอยเตอร์จัดทำขึ้นเมื่อวันอังคาร (28) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 เดือน “ปฏิวัติร่ม” ของฮ่องกง ระบุว่า ผู้ประท้วง 87% ยินดีปักหลักชุมนุมนานกว่า 1 ปี ขณะที่ 93% บอกว่า แม้ตำรวจมาเคลียร์พื้นที่ก็จะขยับขยายไปชุมนุมบนถนนสายอื่นต่อ
ผู้ตอบแบบสอบถาม 59% เผยว่า การที่จีนเข้าควบคุมฮ่องกงมากขึ้น เป็นเหตุผลหลักในการออกมาประท้วง
การเคลื่อนไหวนี้ยังถูกกระตุ้นจากการที่นักธุรกิจใหญ่ของฮ่องกงแผ่ขยายอิทธิพลมากขึ้น โดย 38% ของผู้ตอบแบบสำรวจ 121 คน บอกว่าความไม่เท่าเทียมด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ต้องออกมาแสดงพลัง