เอเอฟพี – นักการทูตมาเลเซียซึ่งถูกส่งตัวกลับไปต่อสู้คดีล่วงละเมิดทางเพศที่นิวซีแลนด์ได้รับการประกันตัวแล้ววันนี้(28) หลังทนายอ้างว่าลูกความของตนไม่ได้ใช้สิทธิ์ความคุ้มกันทางการทูตหลบหนีกลับประเทศก่อนหน้านี้
มูฮัมหมัด ริซัลมาน อิสมาอีล ยินยอมรับเงื่อนไขที่เข้มงวด ซึ่งรวมถึงการห้ามออกจากที่พักอาศัยยามวิกาล, ห้ามติดต่อกับเหยื่อ, สละหนังสือเดินทาง และอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ช่วยทูตทหารมาเลเซีย 2 ราย
ทูตแดนเสือเหลืองวัย 38 ปี ซึ่งสวมเสื้อเชิตลายทางสีดำกับกางเกงดำ ยืนฟังอย่างสงบนิ่งในขณะที่คำร้องขอประกันตัวถูกเสนอต่อศาลแขวงกรุงเวลลิงตัน
ริซัลมาน ถูกกล่าวหาว่าเดินตาม ทาเนีย บิลลิงสลีย์ หญิงสาวชาวนิวซีแลนด์วัย 21 ปี ไปจนถึงบ้านของเธอที่ชานกรุงเวลลิงตัน และพยายามที่จะลวนลามเธอ โดยจุดเกิดเหตุอยู่ไม่ไกลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่มาเลเซียซึ่งทูตรายนี้ทำงานอยู่
ริซัลมาน ถูกตั้งข้อหาบุกรุกและทำร้ายร่างกายด้วยเจตนาข่มขืน แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็เดินทางกลับไปมาเลเซีย หลังรัฐบาลเสือเหลืองแจ้งต่อเจ้าหน้าที่นิวซีแลนด์ว่า เจ้าหน้าที่ผู้นี้จะไม่ถูกตัดสิทธิ์ความคุ้มกันทางการทูต
โดนัลด์ สตีเวนส์ ทนายความของ ริซัลมาน อ้างว่า เจ้าหน้าที่มาเลเซียตัดสินใจอ้างสิทธิ์ความคุ้มกันทางการทูต และส่งตัว ริซัลมาน กลับไปกรุงกัวลาลัมเปอร์เอง โดยที่เจ้าตัวไม่ได้เรียกร้อง
“เขาเดินทางออกจากนิวซีแลนด์ไม่ใช่เพราะต้องการหลบหนีอย่างที่สื่อบางสำนักอ้าง” สตีเวนส์ แถลงต่อศาล
“เขาไปเพราะสำนักงานข้าหลวงใหญ่มาเลเซียไม่ยกเลิกความคุ้มกันทางการทูต และเขาก็ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลมาเลเซียด้วย ดังนั้น ในฐานะข้าราชการกองทัพ เขาจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่ง”
ทนายผู้นี้ยังพยายามโน้มน้าวให้ศาลมั่นใจว่า ลูกความของเขาจะไม่หนีขึ้นเครื่องบินกลับบ้านอีก โดยระบุว่า ริซัลมาน ไม่ได้คัดค้านคำขอส่งตัวมาดำเนินคดีที่นิวซีแลนด์ เพราะเขาต้องการกลับมากรุงเวลลิงตันเพื่อ “แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” อยู่แล้ว
“เขาอยากจะกลับมานิวซีแลนด์เพื่อจัดการปัญหานี้ให้จบ ดังนั้น เขาจึงเดินทางมาที่นี่โดยสมัครใจ และขอสละสิทธิ์ความคุ้มกันทั้งหมดที่มี” สตีเวนส์ กล่าว
ผู้พิพากษา อาร์เธอร์ ทอมป์กินส์ อนุญาตให้ประกันตัวได้ แต่ทนายของ ริซัลมาน จะต้องยื่นเรื่องใหม่อีกครั้งเพื่อขอขยายเวลาประกันตัวไปจนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน
ริซัลมาน จะต้องกลับไปขึ้นศาลอีกครั้งในวันที่ 21 พฤศจิกายน เพื่อยื่นคำแก้ต่างข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งรายละเอียดของคดียังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน
ทั้งนี้ หากพบว่ามีความผิดจริง นักการทูตมาเลย์รายนี้อาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี
บิลลิงสลีย์ ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ขอสละสิทธิ์ในการสงวนชื่อจริงของเธอตามกฎหมายนิวซีแลนด์ เพื่อแสดงออกให้สังคมรับรู้ว่าเธอคับข้องใจต่อการทำคดีนี้มากเพียงใด
เธอให้สัมภาษณ์ต่อรายการโทรทัศน์เมื่อเดือนกรกฎาคมว่า เจ้าหน้าที่นิวซีแลนด์ดูเหมือนจะพยายามทำให้เรื่องนี้เงียบ และห่วงความสัมพันธ์ทางการทูตมากกว่าความยุติธรรมที่ผู้เสียหายอย่างเธอพึงจะได้รับ