เอเจนซีส์ – ทางการญี่ปุ่นเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการขึ้นไปยังยอดภูเขาไฟอิโอยามา (Ioyama) บนเกาะคิวชู ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณอันตรายและมีแนวโน้มที่จะเกิดการปะทุระดับย่อมๆ ในอีกไม่ช้า โดยภูเขาไฟลูกนี้ตั้งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพียงราวๆ 64 กิโลเมตร
คำเตือนล่าสุดมีขึ้นไม่ถึง 1 เดือน หลังจากที่ภูเขาไฟออนทาเกะทางภาคกลางของประเทศได้ปลดปล่อยเถ้าถ่านร้อนออกมาคร่าชีวิตนักปีนเขาไป 57 รายแบบไม่ส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติภูเขาไฟที่เลวร้ายที่สุดสำหรับญี่ปุ่นในรอบ 90 ปี
เจ้าหน้าที่แผนกภูเขาไฟของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น รายงานว่า ภูเขาไฟอิโอยามาเกิดการสั่นสะเทือนและมีสัญญาณของกิจกรรมภูเขาไฟเพิ่มขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ หนึ่งในนั้นคือแรงสั่นสะเทือนที่กินเวลานานถึง 7 นาที
“กิจกรรมภูเขาไฟเริ่มเด่นชัดขึ้นในระยะนี้ และภายใต้เงื่อนไขบางประการก็อาจเกิดการปะทุระดับย่อมๆ แต่คงไม่ใช่การปะทุครั้งใหญ่” เจ้าหน้าที่ผู้นี้ กล่าว
เจ้าหน้าที่ได้ยกระดับการเตือนภัยภูเขาไฟอิโอยามาจากขั้น “ปกติ” (normal) ซึ่งเป็นขั้นต่ำสุดมาเป็นขั้น “รองต่ำสุด” ในเวลานี้ ซึ่งหมายความว่า รอบๆ ปากปล่องภูเขาไฟจัดเป็นพื้นที่อันตราย
ภูเขาไฟอิโอยามา ความสูง 1,310 เมตร ตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาคิริชิมา และอยู่ห่างเพียงราวๆ 64 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าเซ็นไดที่มีบริษัท คิวชู อิเล็กทริก เพเวอร์ โค เป็นผู้บริหาร
รัฐบาลโตเกียวพยายามโน้มน้าวประชาชนให้เล็งเห็นผลประโยชน์ของการเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนพลังงาน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงคัดค้าน เพราะกลัวจะเกิดหายนะร้ายแรงเหมือนที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ
นักวิจารณ์ชี้ว่า โรงไฟฟ้าเซ็นไดอยู่ห่างเพียง 50 กิโลเมตรจากภูเขาไฟซากุระจิมาซึ่งปะทุบ่อยครั้ง และการระเบิดที่ผ่านๆมาก็ทำให้เกิด “แคลดีรา” หรือปากปล่องขนาดใหญ่ 5 แห่ง แห่งที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าไปเพียง 40 กิโลเมตรเศษ
โรงไฟฟ้าเซ็นไดจะต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานท้องถิ่นเสียก่อน การเปิดใช้งานจึงอาจต้องรอไปถึงปีหน้าเป็นอย่างเร็ว
ขณะนี้ระดับคำเตือนภูเขาไฟซากุระจิมายังอยู่ที่ขั้น 3 ซึ่งหมายความว่าประชาชนไม่ควรขึ้นไปใกล้ปากปล่อง
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 9.0 ซึ่งก่อให้เกิดคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 ทำให้ภูเขาไฟทั่วญี่ปุ่นเสี่ยงต่อการระเบิดเพิ่มขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ภูเขาไฟฟูจิอันสวยงามเลื่องชื่อ