xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำ EU ดันข้อตกลง “ลดโลกร้อน” ตั้งลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2030

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้นำสหภาพยุโรปถ่ายภาพหมู่ระหว่างเข้าร่วมประชุมซัมมิตที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวานนี้(23)
เอเอฟพี - ผู้นำสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงร่วมซึ่งพวกเขาชี้ว่าเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการลดโลกร้อนภายในปี 2030 และถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะนำไปสู่การทำข้อตกลงสากลว่าด้วยการต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงปารีส ในปีหน้า

ผู้นำอียูทั้ง 28 ชาติซึ่งร่วมประชุมที่กรุงบรัสเซลส์สามารถก้าวข้ามความเห็นต่าง และบรรลุข้อตกลงซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ที่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างน้อย 40% ภายในอีก 16 ปีนับจากนี้ เฮอร์มาน ฟาน รอมปุย ประธานสภายุโรป แถลง

อียูยังเห็นชอบให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 27% แม้บางประเทศจะไม่แสดงท่าทีกระตือรือร้นนัก เพราะหวั่นเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูง

ฟาน รอมปุย ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “ข้อตกลงสำเร็จ! ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 40% ภายในปี 2030 ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา นโยบายพลังงานและสภาพอากาศที่คุ้มค่าและเป็นธรรมสำหรับอียูในปี 2030 ผ่านความเห็นชอบแล้ว”

ทั้งนี้ อียูต้องการตกลงเป้าหมายลดโลกร้อนระหว่างชาติสมาชิก ก่อนที่จะถึงการประชุมซัมมิตที่กรุงปารีสในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ปี 2015 ซึ่งทุกฝ่ายคาดหวังว่านานาชาติจะเห็นชอบต่ออนุสัญญาเกียวโตเฟสใหม่ที่จะมีผลบังคับต่อไปจนถึงปี 2020

การเจรจาที่กรุงบรัสเซลส์ต้องฝ่าฟันความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างชาติที่ร่ำรวยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กับชาติที่ยากจนกว่าและยังต้องพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือก๊าซธรรมชาตินำเข้าจากรัสเซีย

ข้อตกลงฉบับนี้ส่งเสริมให้สมาชิกอียูมีความเชื่อมโยงในด้านพลังงานกันมากขึ้น โดยอนุญาตให้แต่ละประเทศส่งออกพลังงานได้ 15% ของกำลังการผลิตหากมีส่วนเกิน และสามารถนำเข้าได้ 15% ในกรณีที่ขาดแคลน

ฟาน รอมปุย ชี้ว่า การเชื่อมโยงลักษณะนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยพัฒนาตลาดพลังงานอียู และเป็นเครื่องการันตีว่าปัญหาพลังงานขาดแคลนจะไม่เกิดขึ้น

หัวใจสำคัญของข้อตกลงอยู่ที่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนลงให้ได้ถึง 40% จากระดับเมื่อทศวรรษ 1990 และยังคงเป้าหมาย 27% สำหรับการใช้พลังงานหมุนเวียนจำพวกพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ส่วนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งคณะกรรมาธิการได้ตั้งเป้าเอาไว้ถึง 30% เมื่อเดือนกรกฎาคม ถูกปรับลดลงมาเหลือ 27%

ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความวิตกกังวลในหมู่ชาติสมาชิกอียู ซึ่งยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ในขณะที่ความสัมพันธ์กับแดนหมีขาวย่ำแย่จากวิกฤตยูเครน

ฟาน รอมปุย ชี้ว่า ปัญหาการเมืองยูเครนและความวุ่นวายในตะวันออกกลางคือเหตุผลสำคัญที่อียูจะต้องยกระดับความมั่นคงทางพลังงาน

อย่างไรก็ดี กลุ่มสิทธิมนุษยชนอ็อกซ์แฟมในอังกฤษกลับมองว่า เป้าหมายของอียูในเวลานี้ยังต่ำเกินไป พร้อมเรียกร้องให้มีการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึง 55% ภายในปี 2030 และปรับเพิ่มเป้าหมายในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 40% และ 45% ตามลำดับ


กำลังโหลดความคิดเห็น