รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ออกโรงเตือนในวันพุธ (22 ต.ค.) โดยระบุการพึ่งพารายได้จากการขาย “น้ำมัน” ไม่ต่างจากการที่อิหร่านต้องกลายสภาพเป็นดินแดนที่รอคอย “ความเมตตาปรานี” จากบรรดาชาติมหาอำนาจ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตัวเอง
ท่าทีล่าสุดของผู้นำสูงสุดอิหร่านมีขึ้นหลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับร่วงลงไปแล้วกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อรายได้ของรัฐบาลอิหร่าน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี
ที่ผ่านมา งบประมาณแผ่นดินของอิหร่านถูกกำหนดบนพื้นฐานของรายได้จากการจำหน่ายน้ำมันที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ในเวลานี้ราคาน้ำมันดิบในตลาด “เบรนท์ทะเลเหนือ” ได้ร่วงลงเหลือต่ำกว่า 87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และบีบให้รัฐบาลเตหะรานต้องมองหาแหล่งรายได้อื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ
รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลอิหร่านมีแผนเดินหน้าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างขนานใหญ่ โดยหวังใช้ศักยภาพของ “คนรุ่นใหม่” ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพารายได้หลักจากน้ำมัน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (20 ต.ค.) ที่ผ่านมา โฆษกรัฐบาลอิหร่านเพิ่งออกคำแถลงโจมตีประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางว่ากำลัง “สมคบคิด” กับโลกตะวันตกในการทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกดิ่งเหว เพื่อเป็นแท็คติกในการบ่อนทำลายเสถียรภาพของดินแดนที่ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างอิหร่าน
ทั้งนี้ อิหร่านซึ่งเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 ถือเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตน้ำมันมากเป็นลำดับที่ 2 ของกลุ่มรองจากซาอุดีอาระเบีย โดยอิหร่านมีกำลังการผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดโลกไม่ต่ำกว่าวันละ 4.17 ล้านบาร์เรล และที่ผ่านมารัฐบาลอิหร่านมักเป็นประเทศแรกๆที่ออกโรงเรียกร้องให้กลุ่มโอเปกปรับลดกำลังการผลิต เพื่อป้องกันมิให้ราคาน้ำมันปรับลดลง