รอยเตอร์ – “โบอิ้ง” ยักษ์ใหญ่ด้านอากาศยานสหรัฐฯ จับมือกับ “คอมเมอร์เชียล แอร์คราฟท์ คอร์ป ออฟ ไชนา” (COMAC) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินของแดนมังกร ร่วมกันทำโครงการนำร่องเพื่อเปลี่ยนน้ำมันที่เหลือจากการประกอบอาหาร ให้เป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนอากาศยาน
โบอิ้งระบุในคำแถลงว่า โรงงานของทั้งสอง ในเมืองหางโจว ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน จะสามารถเปลี่ยนน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วเพียงไม่ถึง 240,000 ลิตรต่อปี ให้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน
โครงการนี้จะเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตอากาศยานทั้งสองเจ้าทดสอบว่า จะสามารถผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากเศษอาหารที่มีราคาถูก และสามารถหาได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งจีนเรียกว่า “น้ำมันจากท่อระบายน้ำ” หรือไม่
โบอิ้ง และกิจการผู้ผลิตอากาศยานของทางการจีนประมาณการไว้ว่า จะสามารถผลิตเชื้อเพลิงจากน้ำมันท่อระบายน้ำ ในจีนได้ถึงปีละ 1.8 พันล้านลิตร
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งจีนได้มอบใบอนุญาตในการผลิตเชื้อเพลิงเครื่องบินจากน้ำมันที่เหลือจากการประกอบอาหาร ให้แก่บริษัทในเครือยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตน้ำมัน ซิโนเปก คอร์ป ของทางการจีน
ทั้งนี้ น้ำมันจากทอดซ้ำนับเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพที่สร้างความกังวลไปทั่วประเทศจีน เนื่องจากร้านอาหารในแดนมังกรมักนำไปใช้ประกอบอาหารกันอย่างกว้างขวาง น้ำมันใช้แล้วอาจมีสารก่อมะเร็ง และถูกมองว่าไม่ถูกสุขลักษณะอยู่บ่อยครั้ง
เมื่อปี 2010 สื่อแดนมังกรประโคมข่าวว่า แก๊งอาชญากรได้เก็บรวบรวมน้ำมันจากท่อน้ำเสีย และท่อระบายน้ำ เพื่อนำมาบรรจุขวดขายใหม่
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีคนไม่น้อยถูกตัดสินจำคุกนานหลายปี จากการกระทำผิดดังกล่าว ซึ่งทำให้มีชาวจีนในเมืองใหญ่ๆ พากันล้มป่วย โดยเมื่อปีที่แล้ว มีชายคนหนึ่งถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากการลอบขายน้ำมันท่อระบายน้ำ