xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลฮ่องกงเริ่มเจรจานศ. “ผู้ว่า”แบะท่ามีช่องทาง “ยืดหยุ่น” แม้ย้ำ “เลือกตั้งเสรี” เป็นไปไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ผู้ว่าการฮ่องกงกล่าวในวันอังคาร (21 ต.ค.) ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำนักศึกษาว่า อาจมีช่องทางให้คณะกรรมการกลั่นกรองผู้สมัครชิงตำแน่งผู้บริหารเขตปกครองพิเศษของจีนแห่งนี้ มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หลังจากที่ในวันจันทร์ (20) เขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ยักษ์ของฝ่ายตะวันตกว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดเลือกตั้งอย่างเสรี เนื่องจากจะทำให้คนจนและชนชั้นแรงงานเข้าครอบงำการเมืองซึ่งจะกลายเป็นแบบประชานิยม

เหลียง ชุนอิง ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกลุ่มเล็กๆ เมื่อวันอังคารว่า ยังมีช่องทางสำหรับการหารือเพื่อทำให้คณะกรรมการซึ่งทำหน้าที่เสนอชื่อผู้ที่สามารถลงสมัครชิงตำแหน่งที่เขากำลังดำรงอยู่นี้ ในครั้งต่อไปในปี 2017 มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฮ่องกงก็สำทับด้วยว่า การหารือดังกล่าวจะมีขึ้นในช่วงปลายปีที่รัฐบาลจะเริ่มการพิจารณาวิธีการเลือกตั้งรอบใหม่ ไม่ใช่ในขณะนี้เลย

ทั้งนี้ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐสภาของจีนตกลงเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้ชาวฮ่องกงมีโอกาสเลือกผู้นำของตัวเองในปี 2017 แทนที่จะให้คณะกรรมการผู้แทนภาคส่วนต่างๆ จำนวนพันกว่าคนเป็นผู้เลือกอย่างที่ผ่านๆ มา แต่ก็ตั้งเงื่อนไขด้วยว่า ควรต้องมีผู้สมัครเพียง 2-3 คน และผู้สมัครเหล่านั้นต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการเสนอชื่อที่ประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 1,200 คน

กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่มีขบวนการนักศึกษาเป็นผู้ออกหน้า ได้ลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วง โดยกล่าวหาว่าข้อเสนอดังกล่าวยังเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม พร้อมประกาศว่าจะไม่ยอมยุติการชุมนุมจนกว่าปักกิ่งจะยอมให้ฮ่องกงเลือกตั้งผู้นำอย่างเสรี

การให้สัมภาษณ์ของเหลียงคราวนี้ มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะมีการเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างแกนนำนักศึกษาและตัวแทนรัฐบาลฮ่องกงฝ่ายละ 5 คน โดยมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เพื่อมุ่งคลี่คลายวิกฤตที่ถือว่า รุนแรงที่สุดนับจากอังกฤษยอมส่งคืนเกาะแห่งนี้ให้แก่จีนในปี 1997

แต่จากการแสดงท่าทีของเหลียงและเจ้าหน้าที่บริหารคนอื่นๆ รวมทั้งปักกิ่งก็มีน้ำเสียงแข็งกร้าว นอกจากนั้นยังเกิดการปะทะกันอยู่เป็นระยะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจปราบจลาจล ผู้คนส่วนใหญ่ในฮ่องกงจึงไม่คาดหวังว่า การเจรจาครั้งนี้จะมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม มิหนำซ้ำ ถ้าหากการเจรจาออกมาแย่มาก ก็อาจทำให้มีการปะทะระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจมากขึ้นอีก

หลังการประท้วงที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจราจรในหลายพื้นที่สำคัญของนครแห่งนี้กลายเป็นอัมพาต มีกลุ่มชาวบ้านและนักธุรกิจที่เดือดร้อนไม่พอใจออกมาเรียกร้องให้นักศึกษายุติการชุมนุม โดยที่ในวันจันทร์ (20) ศาลสูงของฮ่องกงยังได้เห็นชอบตามคำร้องของสมาคมรถแท๊กซี่และสมาคมประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ประกาศคำสั่งชั่วคราวให้ผู้ชุมนุมในเขตมองก๊อก ทางฝั่งเกาลูน และที่เขตแอดมิรัลตี้ ใกล้ๆ ศูนย์ราชการบนตัวเกาะฮ่องกง ออกไปจากพื้นที่ในทันที ทว่าพวกนักศึกษายังไม่ยอมปฏิบัติตาม

แม้ยังไม่มีการดำเนินการสลายการชุมนุมอย่างเด็ดขาด แต่เหลียงก็เตือนว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ หากตำรวจเห็นว่าจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของฮ่องกง

“เราไม่ได้ผูกโยงการเจรจา (ระหว่างตัวแทนผู้บริหารและตัวแทนนักศึกษา) กับ การดำเนินการของตำรวจ เราไม่เคยบอกว่า ระหว่างการเจรจาซึ่งอาจต้องจัดกันหลายรอบ ตำรวจจะไม่ดำเนินมาตรการที่จำเป็น”

กระนั้น เหลียงปฏิเสธที่จะฟันธงว่า มีเส้นตายในการสลายการชุมนุมหรือไม่ แต่บอกว่า รัฐบาลไม่ได้รับคำสั่งใดๆ จากปักกิ่ง และสำทับว่า ฮ่องกงโชคดีที่ปักกิ่งยังไม่รู้สึกว่า จำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซง

เหลียงยังแสดงความเชื่อมั่นว่า คนฮ่องกงหมดความอดทนกับการประท้วงแล้ว และอาจลุกขึ้นมาจัดการด้วยตัวเอง

ก่อนหน้านั้นในวันจันทร์ (20) ผู้นำฮ่องกงได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของฝ่ายตะวันตก 3 ฉบับ ได้แก่ นิวยอร์กไทมส์, วอลล์สตรีทเจอร์นัล, และ ไฟแนนเชียลไทมส์ โดยเขาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถยอมรับการเลือกตั้งเสรีได้ ก็คือ ระบบดังกล่าวอาจทำให้คนยากจนและชนชั้นแรงงานที่มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของประชากรฮ่องกง เข้ามายึดกุมการเมือง ซึ่งอาจนำไปสู่นโยบายประชานิยม

เหลียงยังยืนยันว่า ระบบการเลือกตั้งจำเป็นต้องปกป้องชนกลุ่มน้อย

ในการเจรจาที่จัดขึ้นวันอังคารเป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยเริ่มตั้งแต่ 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 17.00 น.เวลาเมืองไทย) เหลียงไม่ได้เข้าร่วมด้วย แต่ส่งตัวแทน 5 คน โดยมี แคร์รี่ ลัม ปลัดเขตบริหารฮ่องกง ซึ่งเป็นข้าราชการประจำตำแหน่งสูงสุดของฮ่องกง เป็นผูนำ ทั้งนี้ลัมแสดงความหวังว่า การเจรจาอาจทำให้ความตึงเครียดผ่อนคลายลง และยังบอกว่า ไม่ว่าจะมองมุมใด การที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 5 ล้านคน ได้เลือกตั้งผู้นำโดยตรง ย่อมเป็นประชาธิปไตยกว่าการที่คณะกรรมการ 1,200 คนเลือกผู้นำแทนประชาชน

การเจรจาครั้งนี้จะมีการถ่ายทอดสดตามข้อเรียกร้องของแกนนำนักศึกษา

“นี่เป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ เพราะถือเป็นครั้งแรกในฮ่องกงที่กลุ่มผู้ประท้วงสามารถนั่งลงเจรจาอย่างเท่าเทียมกับรัฐบาลเพื่อบอกว่า เราไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แต่เราต้องการประชาธิปไตย” นาธาน ลอว์ สมาชิกสหพันธ์นักศึกษาฮ่องกงประกาศ

สำหรับบรรยากาศการชุมนุมในวันอังคารยังเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย โดยนอกจากที่มองก๊อกแล้ว ยังมีผู้ประท้วงราว 1,000 คนตั้งเต็นท์ชุมนุมหน้าศูนย์บัญชาการขบวนการอารยะขัดขืน “อ็อกคิวพาย เซนทรัล” บนทางหลวง 8 ช่องทางใกล้ศูนย์ราชการ ในเขตแอดมิรัลตี้
กำลังโหลดความคิดเห็น