เอเจนซีส์ - ไนจีเรีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา ประกาศอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (20 ต.ค.) ว่า ปลอดพ้นจากเชื้อไวรัสอีโบาแล้ว ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูงของอเมริกา แถลงถึงแนวทางใหม่สำหรับการดูแลผู้ป่วยอีโบลาจะรวมถึงการใช้ชุดป้องกัน “ปิดมิดชิดเต็มตัว” ขณะที่เพนตากอนประกาศเตรียมตั้งทีมช่วยเหลือภายในประเทศ หากจำเป็น
รุย กามา วาซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำไนจีเรีย แถลงที่เมืองหลวงอาบูจา ว่า เวลาผ่านไปแล้ว 42 วัน ซึ่งเท่ากับ 2 เท่าตัวของระยะเวลาในการฟักตัวของเชื้ออีโบลา ปรากฏว่าประเทศนี้ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสนี้อีกเลย ดังนั้น “ตอนนี้ไวรัสหมดไปแล้ว การแพร่ระบาดในไนจีเรียถูกกำราบจนอยู่หมัด”
การประกาศอย่างเป็นทางการของไนจีเรียคราวนี้ บังเกิดขึ้นหลังจากชาติในแอฟริกาตะวันตกอีกรายหนึ่ง คือ เซเนกัล ได้รับการรับรองว่าปลอดอีโบลาแล้วในวันศุกร์ (17) ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม วาซ กล่าวเตือนว่า ทั้งสองประเทศไม่ควรคลายมาตรการระมัดระวัง เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้ยังคงอาละวาดหนักในพื้นที่อื่นๆ ของภูมิภาคแถบนี้
ทางด้านสหรัฐฯ ดร.แอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของอเมริกา เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (19) ว่า พยาบาล 2 คนที่ดูแลผู้ป่วยอีโบลาในเมืองดัลลัส ติดเชื้อเนื่องจากผิวบางส่วนไม่ได้รับการปกปิด
ฟอซีเสริมว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (ซีดีซี) กำลังทบทวนหลักปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย จากเดิมที่อิงกับแบบแผนขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ซึ่งเน้นการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ทุรกันดารที่มักเป็นสถานที่กลางแจ้ง และไม่มีการฝึกอบรมที่เข้มงวดให้แก่เจ้าหน้าที่ ส่งผลให้บางส่วนของหลักปฏิบัติมีช่องโหว่ เป็นต้นว่า ผิวหนังบางส่วนไม่ได้รับการปกปิด
แนวทางใหม่นั้น คาดว่าจะมีการกำหนดมาตรฐานเคร่งครัดขึ้น เช่น ชุดป้องกันคลุมตลอดทั้งตัว และหมวกคลุมปิดคอ รวมถึงมีการกำหนดกฎเข้มงวดในการถอดชุดและฆ่าเชื้อที่มือ และแต่งตั้ง “ผู้จัดการประจำสถานที่” คอยตรวจสอบการสวมและถอดชุดป้องกัน
แนวทางใหม่ยังอาจรวมถึง “ระบบคู่หู” ที่เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบกันและกันขณะเข้าและออกจาก “ห้องพักรอ” ที่แยกจากห้องผู้ป่วยและเป็นห้องสำหรับสวมและถอดชุดป้องกัน
ทั้งนี้ อเมริกาตื่นตัวในการยกระดับการป้องกันอีโบลา หลังจากที่พยาบาล 2 คนในดัลลัสติดเชื้อจากการดูแลโธมัส อิริก ดันแคน ชาวไลบีเรียที่เดินทางมาเยี่ยมคู่หมั้นในสหรัฐฯ และกลายเป็นบุคคลแรกที่ตรวจพบเชื้ออีโบลาในอเมริกา
พยาบาลทั้งคู่คือ นีนา ฟาม และแอมเบอร์ จอย วินสัน ถูกวินิจฉัยว่า ติดเชื้ออีโบลาหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น โดยที่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าได้รับเชื้อในตอนไหน
จากประวัติการรักษาของดันแคนชี้ว่า ฟามดูแลผู้ป่วยรายนี้หลังจากที่เขาย้ายเข้าแผนกผู้ป่วยวิกฤตเมื่อวันที่ 29 กันยายน หรือหลังจากห้องฉุกเฉินรับเข้ารักษากว่า 30 ชั่วโมง และเกือบ 27 ชั่วโมงหลังจากนั้น วินสันจึงเข้ามาดูแลดันแคนด้วย
ครั้งแรกที่ฟามดูแลดันแคน เธอไม่ได้เอ่ยถึงชุดป้องกัน ซึ่งอาจเป็นเรื่องปกติที่แพทย์และพยาบาลไม่ได้บันทึกการป้องกันตัวเองในบันทึกการรักษา อย่างไรก็ดี ในเช้าวันรุ่งขึ้น ฟามระบุว่า เธอสวมเสื้อคลุม หน้ากาก และรองเท้านิรภัย ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เธอใช้ทุกครั้งหลังจากนั้น
สำหรับวินสัน เธอระบุว่า สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ที่รวมถึงชุดป้องกันสารพิษและหน้ากาก ซึ่งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลระบุว่า หน้ากากปิดจมูกและปากเป็นอุปกรณ์ตัวเลือกที่สอดคล้องกับแนวทางของซีดีซี ณ เวลานั้น
อย่างไรก็ดี วันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 21 วัน ซึ่งเป็นระยะฟักตัวของอีโบลา ดังนั้นจึงเท่ากับว่า คู่หมั้นและคนในบ้านซึ่งดันแคนไปพักอยู่ขณะล้มป่วย ตลอดจนเจ้าหน้าที่กลุ่มแรกของโรงพยาบาลเทกซัส เฮลธ์ เพรสไบทีเรียนที่ทำการรักษาดันแคน และยังไม่แสดงอาการติดเชื้อนั้น ปลอดภัยไม่เป็นโรคนี้ และได้รับการปล่อยตัวจากการถูกกักกันโรคแล้ว
ขณะเดียวกัน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ว่า รัฐมนตรี ชัค เฮเกล สั่งให้จัดตั้งทีมสนับสนุนเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพลเรือนในการรับมืออีโบลาภายในประเทศ หากมีความจำเป็น
ทีมสนับสนุนนี้จัดตั้งโดยพลเอกชัค จาโคบี ผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารสหรัฐฯด้านเหนือ โดยประกอบด้วยพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต 20 คน, แพทย์ 5 คนที่ได้รับการฝึกอบรมด้านโรคติดต่อ และครูฝึกด้านหลักปฏิบัติป้องกันโรคติดต่อ 5 คน
เมื่อจัดตั้งแล้ว ทีมสนับสนุนจะเข้ารับการฝึกอบรมพิเศษในการควบคุมโรคติดต่อและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ฟอร์ต แซม ฮูสตันในเทกซัส และอยู่ในสถานะเตรียมพร้อมเป็นเวลา 30 วัน
ทางด้านยุโรป บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) นัดหารือกันที่ลักเซมเบิร์กในวันจันทร์ เพื่อพยายามวางระเบียบมาตรการร่วมในการต่อสู้กับอีโบลา
การประชุมนี้มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่สเปนเปิดเผยว่า เทเรซา โรมีโร พยาบาลที่กลายเป็นผู้ติดเชื้ออีโบลานอกแอฟริกาตะวันตกคนแรกของโลกนั้น เวลานี้หายจากโรคนี้แล้ว
ก่อนการหารือที่ลักเซมเบิร์ก แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี แถลงว่า อียูควรส่ง "ทีมเจ้าหน้าที่พลเรือน” ไปยังแอฟริกาตะวันตก
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทูตอียูคนหนึ่งเผยว่า อังกฤษที่อยู่ระหว่างการส่งเรือพร้อมเจ้าหน้าที่แพทย์และอุปกรณ์ไปยังเซียร์ราลีโอน หวังว่า การประชุมครั้งนี้จะสามารถผลักดันให้อียูออกมาตรการเกี่ยวกับวิกฤตอีโบลาที่ดำเนินมาถึงจุดพลิกผันสำคัญแล้ว
นักการทูตอีกคนสำทับว่า ขณะนี้ สามชาติตะวันตกกำลังรับบทเป็นผู้บุกเบิกให้ความช่วยเหลือสู่ประเทศที่เผชิญวิกฤตอีโบลารุนแรงที่สุด ประกอบด้วยอเมริกาที่จะให้ความช่วยเหลือไลบีเรีย, อังกฤษช่วยเหลือเซียร์ราลีโอน, และฝรั่งเศสช่วยกินี
ทั้งนี้ การระบาดครั้งล่าสุดของอีโบลาทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 4,500 คนนับจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเกือบทั้งหมดอยู่ในแอฟริกาตะวันตก โดยที่เกือบ 2,500 คนเสียชีวิตในไลบีเรีย