xs
xsm
sm
md
lg

“รบพิเศษออสซี” ที่ถูกส่งไปปราบ IS “ติดแหง็ก” นอกอิรักแรมเดือนเพราะขาดสถานะทางกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ แห่งออสเตรเลียวันนี้ (15 ต.ค.) ระบุว่า ทหารหน่วยรบพิเศษ 200 นายที่ถูกส่งไปต่อสู้กลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในอิรัก ยังไม่ได้ผ่านเข้าสู่ประเทศ เนื่องจากกรุงแบกแดดไม่ให้การคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายแก่พวกเขาอย่างเพียงพอ

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ฝูงบินขับไล่ของออสเตรเลียได้เริ่มทิ้งระเบิดถล่มเป้าหมายในอิรัก โดยถือเป็นหนึ่งในภารกิจโจมตีกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง โดยชาติพันธมิตรภายใต้การนำของสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาได้รุกคืบเข้าสู่เมืองโคบานี ทางตอนเหนือของซีเรีย และภาคตะวันตกของอิรัก

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ วานนี้ (14) ได้หารือกับเหล่าผู้บัญชาการกองทัพของ 20 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ตุรกี และซาอุดีอาระเบีย ขณะที่กลุ่มชาติพันธมิตรภายใต้การนำของสหรัฐฯ กำลังถูกกดดัน หนักขึ้นเรื่อยๆ ให้ระดมกำลังยับยั้งการรุกคืบของกลุ่มไอเอสให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ แห่งออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม กองกำลังที่ออสเตรเลียส่งไปเพื่อ “ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือ” ภารกิจแก่กองทัพอิรักกลับต้องแกร่วอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นับตังแต่กลางเดือนกันยายน โดยแอ็บบอตต์ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องสถานะทางกฎหมาย

สถานเอกอัครราชทูตอิรักประจำออสเตรเลียยังไม่ได้ออกมาตอบสนองถ้อยแถลงของออสเตรเลีย

แอ็บบอตต์บอกว่า มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เหตุใดการเจรจาจึงยืดเยื้อยาวนานมาก และเหตุใดแคนเบอร์ราจึงเน้นย้ำถึงการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย ในขณะที่ชาติอื่นๆ ในกลุ่มพันธมิตรกลับดูเต็มใจที่จะมองข้ามประเด็นนี้ไป

วันนี้ (15) แอ็บบอตต์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ผมได้กล่าวกับนายกรัฐมนตรี (อิรัก) ที่นิวยอร์กอย่างชัดเจนว่า เราต้องการจะช่วยจริงๆ” ทั้งนี้นายกฯ ออสเตรเลียกำลังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี แห่งอิรัก

“ผมได้กล่าวอย่างชัดแจ้งว่า หน่วยรบพิเศษของเราพร้อมที่จะเข้าไป และมีสิ่งๆ ดีจำนวนมหาศาล ที่เราสามารถทำได้ในอิรัก แต่เราจะส่งหน่วยรบพิเศษของเราเข้าไปก็ต่อเมื่อ พวกเขาได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย”

ทั้งนี้ แอ็บบอตต์ถือเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนปฏิบัติการทหารในอิรัก ที่เด็ดเดี่ยวเข้มแข็งที่สุดของแดนอินทรี โดยออสเตรเลียได้จัดหาอาวุธให้แก่กบฏเคิร์ด ใช้ต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธไอเอส และมักจะเอ่ยถึงกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มนี้ว่าเป็น “ลัทธิแห่งความตาย” และภัยคุกตามต่อโลกตะวันตกอยู่บ่อยครั้ง

นับตั้งแต่ที่เขาก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำเมื่อปีที่แล้ว เขาได้โจมตีนโยบายการต่างประเทศอันแข็งกร้าว ขณะที่ต่อสู้ดิ้นรนประกาศใช้นโยบายการบริหารประเทศที่ไม่ได้รับความนิยม ซึ่งรวมถึง โครงข่ายประกันสังคม ที่ทำให้คะแนนความนิยมในตัวเขาดิ่งฮวบลงเป็นประวัติการณ์

ตอนนี้ สหรัฐฯ อังกฤษ และเยอรมนี ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารเข้าไปปฏิบัติภารกิจในบางพื้นที่ของอิรัก โดยปราศจากสถานภาพที่ถูกต้องตาม ข้อตกลงสถานะของกองกำลัง ที่ออสเตรเลียกำลังร้องขอให้ทหารของตน

จอห์น แบล็กซ์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์การศึกษาด้านยุทธศาสตร์และกลาโหม มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียชี้ว่า ก่อนหน้านี้ แอบบ็อตต์ อาจเพียรพยายามโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ที่ยังสงวนท่าที ตัดสินใจดำเนินปฏิบัติการทหารในอิรัก

ตอนนี้ เมื่อบรรลุเป้าหมายนั้นแล้ว แอ็บบอตต์อาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องทำตามแผนการที่เขาชี้ว่า เป็นการส่งทหารไปประจำการโดยไม่ได้รับเสียงสนับสนุน และโดยไม่จำเป็นอีกต่อไป

เขากล่าวกับรอยเตอร์ว่า “ผมสงสัยว่าที่ปรึกษาจำนวนมากกำลังแนะนำให้เขาหาคำอธิบาย หรือข้ออ้างที่มีเหตุผล เพื่อที่จะได้ไม่ต้องส่งหน่วยรบพิเศษเข้าไป”

“แล้วการสัญญาจะส่งกำลังทหารเข้าไปตั้งแต่แรกนั้นทำไปเพื่ออะไร ผมคิดว่าเป้าหมายหลักคือการหนุนให้สหรัฐฯ ตัดสินใจปราบปราม (กลุ่มนักรบญิฮาดไอเอส) และตอนนี้ภารกิจนั้นก็สำเร็จลุล่วงแล้ว”

ทั้งนี้ สถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายของกองกำลังสหรัฐฯ ในอิรักนั้นเป็นประเด็นหลักที่มีการเจรจากัน จนนำไปสู่การถอนกำลังทหารออกจากอิรักเมื่อปี 2011 โดยอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านกล่าวว่า เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้มีการประกาศถอนกำลังทหารอเมริกันออกจากประเทศทั้งหมด

กำลังโหลดความคิดเห็น