รอยเตอร์/เอเอฟพี - กองกำลังที่นำโดยสหรัฐฯปฏิบัติทางอากาศถล่มพวกรัฐอิสลาม (ไอเอส) ถึง 21 เที่ยวใกล้โคบานีใน 2 วันหลังสุด ท่ามกลางสัญญาณว่าการโจมตีดังกล่าวช่วยชะลอการรุกคืบยึดเมืองของอิรักแห่งนี้ที่อยู่ติดชายแดนซีเรีย แต่เตือนว่าสถานการณ์ทางภาคพื้นยังคงผันผวน เหตุกลุ่มนักรบยังพยายามเข้าควบคุมดินแดนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวเชื่อว่ายุทธศาสตร์ปราบไอเอสของพวกเขากำลังประสบความสำเร็จ
การโจมตีในวันจันทร์ (13 ต.ค.) และวันอังคาร ซึ่งรวมถึงปฏิบัติการของเครื่องบินรบซาอุดีอาระเบีย ได้ทำลายพื้นที่ปฏิบัติการของพวกนักรบ 2 จุด ทำลายหรือสร้างความเสียหายอาคารของพวกรัฐอิสลาม 3 หลัง อาณาบริเวณอื่นๆ อีก 3 แห่ง รถกระบะ 1 คันและยานพาหนะอื่นๆ อีก 2 คัน กองบัญชาการสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลง
ถือเป็นเรื่องไม่ปกตินักที่มีปฏิบัติการโจมตีมากเที่ยวขนาดนี้ นับตั้งแต่เครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯเริ่มเปิดฉากถล่มแบบรายวันต่อนักรบรัฐอิสลามซึ่งบุกยืดพื้นที่บางส่วนของโคบานี เมืองยุทธศาสตร์สำคัญติดชายแดนตุกรกี ขณะที่ในถ้อยแถลงเผยว่าในการถล่มทางอากาศช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในเป้าหมายของการโจมตีคือโรงกลั่นน้ำมันใกล้ๆ เมืองเดร์ อัล-ซอร์ ทางใต้ของโคบานี
แม้ถูกถล่มทางอากาศจากพันธมิตรนานาชาติ แต่เมื่อเร็วๆนี้พวกไอเอสสามารถรุกคืบยึดเมืองโคบานีได้เกือบครึ่งและเข้าควบคุมอันบาร์ จังหวัดที่มี่ขนาดใหญ่ของอิรักได้สำเร็จ สำหรับเพิ่มเติมเข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งการสถาปนารัฐอิสลามที่ปกครองด้วยระบบคอลีฟะห์ (กาหลิบ) ที่พวกเขาแอบอ้าง
อย่างไรก็ตาม กองบัญชาการกลางสหรัฐฯ ในวันอังคาร (14 ต.ค.) เผยพบสิ่งบ่งชี้ว่าการโจมตีทางอากาศหลายสิบระลอกช่วง 2 วันที่ผ่านมา สามารถชะลอการรุกคืบของนักรบไอเอสรอบเมืองโคบานี กระนั้นก็ยอมรับว่าสถานาการณ์ยังคงผันผวน
เหตุสู้รบกับนักรบญิฮัด ถูกคาดหมายว่าน่าจะเป็นประเด็นหลักครอบงำการประชุมที่ฐานทัพอากาศแอนดรูว์ส รอบนอกกรุงวอชิงตัน ของเหล่าผู้บัญชาการกองทัพจาก 22 ประเทศ ในนั้นรวมถึง 5 ชาติอาหรับที่เข้าร่วมปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในซีเรีย
อลิสแตร์ บาสกีย์ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เผยว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ มีกำหนดเข้าพบกับเหล่าผู้บัญชาการกองทัพของพันธมิตรเช่นกัน และมองไปถึงการพิจารณาหารือใช้มาตรการเพิ่มเติม ที่พันธมิตรนานาชาติจะสามารถตัดลดแสนยานุภาพและทำลายกลุ่มนักรบไอเอสในท้ายที่สุด
นับเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพประเทศต่างๆ มารวมตัวกันมาขนาดนี้ นับตั้งแต่พันธมิตรปราบนักรบไอเอสถูกจัดตั้งขึ้นในเดือนกันยายน ซึ่งหากนับตามหน้ากระดาษแล้ว จนถึงตอนนี้มีอยู่ราว 60 ชาติที่เข้าร่วม ขณะที่แนวคิดของตุรกีต่อการจัดตั้งเขตกันชนตามแนวชายแดนของพวกเขาติดกับซีเรียก็ได้รับคาดหมายว่าจะอยู่ในวาระการหารือเช่นกัน
ในขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังเตรียมตัวพบปะกับเหล่าผู้บัญชาการกองทัพของชาติพันธมิตร จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียขาวแถลงในวันอังคาร (14 ต.ค.) แสดงความเชื่อมั่นว่ายุทธศาสตร์กำราบนักรบไอเอสในอิรักและซีเรียของสหรัฐฯ กำลังประสบความสำเร็จ “ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินยุทธศาสตร์นี้ แต่แน่นอนว่าจากหลักฐานเบื้องต้นบ่งชี้ว่ายุทธศาสตร์นี้กำลังประสบความสำเร็จ”